นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เส้นเลือดสมองโป่งพองเป็นภาวะของผนังหลอดเลือดอ่อนแรงลงจึงเกิดอาการโป่งพอง ซึ่งเกิดได้ทั้งหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ โดยส่วนมากที่พบมักจะเป็นหลอดเลือดแดง
ทั้งนี้ "เส้นเลือดสมองโป่งพอง" แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก ทำให้อาการที่ไปกดทับเส้นประสาทข้างเคียง หรือมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร อาจทำให้เกิดอาการชักหรืออ่อนแรงได้
- เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว เมื่อมีการแตกเลือดที่ออกมาจะทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที แต่ถ้าเลือดหยุดได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยเลือดออกในชั้นต่าง ๆ ของสมอง เช่น เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ หรือเลือดออกในเนื้อสมอง เป็นต้น เส้นเลือดโป่งพองถึงจุดหนึ่งก็จะมีการแตก โดยทำให้เกิดภาวะที่สำคัญ คือ เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตรายถึงพิการหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดโรค เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรมเส้นเลือดแข็งตัวและเสื่อม ภาวะการติดเชื้อ หรือมีการอักเสบในร่างกาย เนื้องอกบางชนิด และอุบัติเหตุ เป็นต้น
สำหรับอาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงมักเป็นทันทีทันใด คลื่นไส้อาเจียน หมดสติ หรือเสียชีวิต การถูกกดทับเส้นประสาท เช่น คอแข็ง หรือปวดร้าวบริเวณใบหน้า การอุดตันของหลอดเลือด และอาการชัก
การวินิจฉัยโรคแพทย์จะส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และการตรวจหลอดเลือดในสมอง เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดได้แก่
- เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (CTA)
- ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (MRA)
- การเจาะหลังใช้เมื่อต้องการพิสูจน์ภาวะเลือดออกมาช่องใต้เยื่อหุ้มสมองอะแร็คนอยด์ กรณีที่มองไม่เห็นในซีทีสแกน แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัดและรังสีร่วมรักษาโดยอุดหลอดเลือด ในบางกรณีต้องใช้การรักษาทั้ง 2 แบบร่วมกัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการโตหรือแตกของเส้นเลือดโป่งพอง
โรค "เส้นเลือดสมองโป่งพอง" เป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือถ้ามีอาการผิดปกติ อย่ารอช้าควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที