ชาดำช่วยไม่ให้เส้นเลือดแข็งตัว หินปูนเกาะ ต้องกินยังไง เช็คที่นี่

14 มี.ค. 2566 | 09:44 น.

ชาดำช่วยไม่ให้เส้นเลือดแข็งตัว หินปูนเกาะ ต้องกินยังไง เช็คที่นี่มีคำตอบ หมอธีระวัฒน์เผยสิ่งที่ผู้ใหญ่ผู้อาวุโสกล่าวไว้อาจจะมองข้ามไม่ได้ และไม่ใช่เป็นเรื่องล้าสมัย

ชาดำ เครื่องดื่มที่หลายคนโปรดปราน และดื่มบ่อยเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดูแลสุขภาพได้

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญก็คือจะต้องดื่มอย่างถูกวิธีถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า

"ชาดำ" เส้นเลือดยังอ่อนเยาว์

รายงานในวารสาร เส้นเลือดแข็งตัว ตีบตันและระบบควบคุมของเส้นเลือด (Arteriosclerosis, thrombosis, and Vascular Biology) ปี 2022

ดื่มชาดำ ควบคู่ไปกับอาหารพืชผักผลไม้กากไย เนื้อปลาเป็นหลัก เนื้อแดงไม่มากแถมไวน์แดง หรือชาดำ เป็นหลัก ช่วยป้องกันไม่ให้เส้นเลือดแข็งโดยดูจากการที่ไม่มีหินปูนเกาะที่เส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจ

รายงานนี้น่าจะเป็นที่สบายอกสบายใจ สำหรับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ คือไวน์แดงและเบียร์ในปริมาณที่กำหนดคือหนึ่งถึงสองแก้วต่อวัน และสามารถมีทางเลือกอย่างอื่นได้ที่สบายใจและเป็นที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการปกป้องเส้นเลือด

หมอธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า ลักษณะที่พบว่ามีหินปูนเกาะติดอยู่ที่เส้นเลือด เช่นเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจทอดยาวมาที่ท้อง (abdominal aorta) เป็นเครื่องวัดที่สะท้อนว่า มีการอักเสบในร่างกายและกระทบเส้นเลือด

จนกระทั่งมีความผิดปกติและหินปูนเข้าไปสอดแทรกในผนังเส้นเลือด ชั้นใน และชั้นกลาง และต่อไป มีความสัมพันธ์กันชัดเจนกับการเกิด หัวใจวายจากเส้นเลือด หัวใจตีบตัน รวมกระทั่งถึงเส้นเลือดในสมองตีบอัมพฤกษ์ และยังชี้บ่ง ถึงความเสี่ยง ภาวะสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น

สารสำคัญที่เป็นตัวหลักในการทนุถนอมบำรุงสุขภาพก็คือ ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ซึ่งอยู่ในผักผลไม้ รวมทั้งแอปเปิล ลูกเบอร์รี่ ถั่วชนิดต่างๆ และยังอยู่ในช็อกโกแลตดำและเครื่องดื่มเช่น ชา เป็นต้น

คณะทำงานชุดนี้เคย ได้ทำการศึกษาและพบว่าการกินแอปเปิล ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหินปูนที่เกาะอยู่กับเส้นเลือดใหญ่ที่ท้อง และได้ขยายขอบเขตการศึกษาไปจนถึงการดื่มชาดำว่า จะมีประโยชน์ช่วยเพิ่มเติมหรือไม่ และแม้แต่ชาดำเป็นตัวหลักจะยัง ใช้ได้หรือไม่

หมอธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ PLSAW (Pearth  longitudinal study of ageing women) โดยมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เป็นสตรีและมีการประเมินอย่างเข้มงวดรัดกุมถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตการบริโภคอาหาร การออกกำลัง และเศรษฐานะต่างๆ จากจำนวนหลายพันคนจนเหลือ 881 คน

ตัว ฟลาโวนอยด์ ทั้ง 7 กลุ่ม ที่ทำการวิเคราะห์ ได้แก่ flavanones (eriodictyol, hesperetin และ naringenin)

,anthocya- nins (cyanidin, delphinidin, malvidin, pelargonidin, petunidin, and peonidin), flavan-3-ols (catechins and epicatechins, theaflavins, และ thearubigins), proanthocyanidins (dimers, trimers, 4–6 mers, 7–10 mers, and polymers), flavonols (quercetin, kaemp- ferol, myricetin, and isohamnetin), flavones (luteolin and api- genin), and isoflavones (daidzein, genistein, and glycitein)

ปริมาณของฟลาโวนอยด์ที่กิน จะนับ รวม ของทุกกลุ่ม

โดยปริมาณของแต่ละวันจะต้องอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมหรือมากกว่า และปริมาณพลังงานที่บริโภคจะอยู่ระหว่าง 2,100 ถึง 14,700 kJต่อวัน

และมีการเจาะเลือดประเมินระดับของการอักเสบภาวะของเส้นเลือดหัวใจ ตลอดจนการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ

สตรีที่อยู่ในการศึกษานี้อายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนทดแทนเมื่อหมดระดูแล้ว

มีจำนวน ประมาณ 58% ที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติสำหรับผู้สูงอายุ คือมากกว่า 23 ถึงน้อยกว่า 29.9 กก ต่อ ตารางเมตร

ทั้งนี้มีคนที่เป็นเบาหวานอยู่น้อยกว่า 7% และประมาณ 50% พบว่ามีความดันสูงและ 30% ใช้ยาลดไขมันอยู่

จากแรกเริ่มของการศึกษา โดยที่ไม่มีใครมีหินปูนจับอยู่ที่เส้นเลือด และเมื่อถึงจุดที่ทำการประเมิน ในระยะเวลาประมาณห้าปี

สตรีสูงวัยที่ดื่มชาดำเป็นประจำ หรือ กินอาหารทั้งหมดที่มีระดับ ฟลาโวนอยด์รวมสูง โดยเฉพาะ flavan-3-ols และ flavonols จะมี ความเสี่ยงที่ หินปูนจับที่เส้นเลือดใหญ่ น้อยลงมากกว่า 40%

และสำหรับสตรีที่ดื่มชาดำสองถึงหกถ้วยต่อวันจะลดความเสี่ยงที่เกิดหินปูนจับเส้นเลือดใหญ่ดังกล่าวได้ถึง 42%

อย่างไรก็ตามสตรีที่ไม่ได้ดื่มชาดำเลยก็ยังคงได้ประโยชน์จากการบริโภคอาหารที่มากอุดมสมบูรณ์ด้วย ฟลาโวนอยด์เช่นกัน

กลไกของฟลาโวนอยด์ที่อาจจะสามารถอธิบายได้ ในการป้องกันการเกาะของหินปูนที่ผนังชั้นในของเส้นเลือด น่าจะเป็นกลไกในการลดการอักเสบ ต้านอนุมูนอิสระและยับยั้งขั้นตอนของไขมันเลวที่จะแทรกตัวเข้าไปใน ผนังเส้นเลือด

และตามปกติ ในผนังชั้นกลางของเส้นเลือด ที่มีหินปูนจับนั้นจะหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆในอายุที่สูงขึ้น  มีเบาหวานและไตทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดบ่งบอกถึงภาวะความเสื่อมของเซลล์

กลไกเป็นขั้นตอนลำดับ ที่ป้องกันอันตราย (protective signaling cascades) ยังรวมถึง Nrf2 (NF- E2-related factor 2) และ Hmox-1 (heme oxygenase-1) ที่ลดความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระและการอักเสบ

นอกจากนั้นยังมีกลไกที่ขัดขวาง การสร้าง reactive oxygen species เช่น
nicotinamide adenine dinucleotide phosphate oxidases และผ่านทาง nitric oxide bioavailability โดยมีกลไก กระตุ้น endothelial nitric oxide synthase (eNOS) induction ทั้ง nitric oxide มีผลในการยับยั้งเซลล์กล้ามเนื้อของเส้นเลือดที่ปรับเปลี่ยน (differentiate) ไปเป็นหินปูน

หมอธีระวัฒน์ ยังระบุอีกด้วยว่า ประเด็นสำคัญในการศึกษานี้ยังพบว่า ปริมาณของฟลาโวนอยด์ ที่ได้รับโดยรวมนั้นจะอยู่ระหว่าง 719 ถึง 1,611 มิลลิกรัมต่อวัน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 188 มิลลิกรัม

โดยมีตัวชาดำเป็นตัวหลักถึง 75.9% และพืชผักผลไม้กากใยต่างๆลดหลั่นกันมา
แต่จุดสำคัญก็คือ ความหลากหลายของพืชผักผลไม้ที่น่าจะได้ประโยชน์กว่าการกินชนิดเดียว หรือไม่กี่ชนิดซ้ำซากอยู่ตลอด และในกลุ่มที่ดื่มชาดำน้อยหรือไม่ดื่มเลย แต่กินพืชผักผลไม้หลากหลายก็ยังได้รับประโยชน์เท่ากัน ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะมีสารชนิดอื่นหรืออยู่ในตระกูลอื่นที่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคต่างๆเหล่านี้ด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ การกินเข้าใกล้มังสวิรัติ ลดแป้ง ลดเนื้อแดง และมากด้วยผลไม้กากใยหลากหลาย ถั่ว พริกหวาน น้ำพริกปลาทู โดยอย่าให้เค็มมาก ลดอาหารปิ้ง ย่าง ควบไปกับชา คล้ายกับที่ ปู่ ย่า ตา ยาย เคยพูดเสมอเวลาที่กินอาหารจีน มันๆ บอกว่ากินชาล้างปากชะไขมัน ทำท่าจะเป็นความจริง และตอกย้ำว่าอะไรที่ผู้ใหญ่ผู้อาวุโสกล่าวไว้อาจจะมองข้ามไม่ได้และไม่ใช่เป็นเรื่องล้าสมัย

ทั้งนี้ ชาตามที่แบ่งประเภทไว้ก็มี ทั้ง ชาดำ (ความจริงคือชาแดง) โดยเริ่มกำเนิดจากประเทศจีน ( hong cha ) และมีชาอูหลง ชาเหลือง ชาขาว และชาเขียว โดยที่ชาดำหรือแดงนี้จะมีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่าชนิดอื่น และน่าดีใจที่ว่าวัฒนธรรมของเอเชียแพร่หลายไปและเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกด้วย