ดูชัด ๆ วัคซีนโควิดไฟเซอร์ Bivalent รุ่นใหม่ดีกว่ารุ่นเก่าอย่างไร 

12 มี.ค. 2566 | 03:16 น.

นักวิชาการ คลายข้อกังขาเทียบวัคซีนโควิดไฟเซอร์ Bivalent รุ่นใหม่ดีกว่ารุ่นเก่าอย่างไร ใครบ้างที่ควรฉีด ที่นี่มีคำตอบ 

กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบวัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่ล็อตแรก จำนวน 501,120 โดส จากรัฐบาลเกาหลี พร้อมกระจายไปเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนให้เป็นเข็มกระตุ้นแก่บุคลากรด่านหน้า กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และได้รับวัคซีนเข็มล่าสุดนาน เกิน 4 เดือนขึ้นไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA โดยวัคซีนไฟเซอร์รุ่นเก่า (Monovalent) ผลิตจากสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์อู่ฮั่นที่ระบาดในช่วงแรก

ต่อมาเมื่อโควิดมีการแพร่ระบาดและกลายพันธุ์ จึงมีการศึกษาวิจัยและผลิตวัคซีนชนิดผสม ระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน เป็นวัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่ หรือ ไฟเซอร์ Bivalent ขึ้นมา

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โรค และผลการศึกษาในช่วงปลายปี 65 ในประเทศสหรัฐอเมริกา

องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ Bivalent เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มขึ้นไปซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 28-56% ความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีนรุ่นแรกโดยสามารถใช้ทั้งชนิด Monovalent และ Bivalent มาเป็นเข็มกระตุ้นได้ เนื่องจากผลในการป้องกันโรคไม่แตกต่างกัน

ขณะที่นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ข้อมูลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัคซีนไฟเซอร์รุ่นใหม่และรุ่นเก่า เอาไว้ดังนี้

 

จากผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์หลัก ๆ ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรเก่า (Monovalent) เทียบกับวัคซีนไฟเซอร์สูตรใหม่ (Bivalent) โดยเก็บตัวอย่างซีรัมหลังฉีดเข็มกระตุ้น (เข็ม 4) ที่ 1 เดือน เปรียบเทียบโดยใช้ไวรัสตัวจริง พบว่า

1.วัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรใหม่ สามารถให้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสสายพันธุ์กลุ่มโอมิครอนได้มากกว่ากลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรเก่าโดยเฉพาะไวรัสกลุ่ม BA.4 หรือ BA.5 ซึ่งตรงกับวัคซีนในวัคซีนสูตรใหม่ ภูมิถูกกระตุ้นจากก่อนฉีดขึ้นมา 13 เท่า ในขณะที่วัคซีนสูตรเก่ากระตุ้นขึ้นมาได้ประมาณ 3 เท่า

2.ความสามารถในการกระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรใหม่จะได้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสกลุ่มที่เป็นลูกหลานของ BA.4 หรือ BA.5 ได้พอสมควร เช่น กลุ่ม BA.4.6 และ BQ.1.1 ตัวเลขภูมิที่กระตุ้นขึ้นมาได้อยู่ระดับ 8.7-11.1 เท่า เทียบกับวัคซีนสูตรเดิมที่ 1.8-2.3 เท่า

3.เมื่อดูภูมิจากวัคซีนสูตรใหม่กับไวรัสที่มีบรรพบุรุษเป็น BA.2 คือ กลุ่ม BA.2.75 และ XBB ความจำเพาะต่อไวรัสจะลดลงเนื่องจากวัคซีนเริ่มไม่ตรงกับสายพันธุ์ไวรัส ภูมิต่อ BA.2.75 เพิ่มขึ้น 6.7 เท่า และต่อ XBB เพิ่ม 4.8 เท่า

4.จำนวนเท่าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิก่อนฉีดต่อไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ที่ต่ำมากอยู่แล้วทำให้ตัวเลขที่ออกมาอยู่ที่ 196 ต่อ BA.2.75 และ 84 ต่อ XBB ซึ่งค่อนข้างต่ำ และอาจจะไม่เพียงพอต่อการป้องกัน XBB ในบางคนที่ได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว

เปรียบเทียบให้เห็นได้ชัด คือ 1 เดือนหลังฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรใหม่จะมีภูมิป้องกัน XBB พอๆ กับภูมิของตอนที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้นใด ๆ กับ ไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งคงติดได้ไม่ยากแม้จะมีภูมิจากวัคซีนสูตรใหม่มาแล้ว

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้วและถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรใหม่ ตัวเลขจะสูงกว่าคนไม่เคยติดมาก่อน จากข้อมูลชุดนี้พบว่า ภูมิต่อ XBB ในคนที่ไม่เคยติดได้แค่ 55 แต่คนที่เคยติดแล้วได้ 131 ซึ่งเห็นความแตกต่างอยู่