กรมอนามัย แนะเลี่ยงอาหาร 8 ประเภทลดเสี่ยงเป็น "โรคไต"

09 มี.ค. 2566 | 14:45 น.
645

ไทยติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงสุด กรมอนามัย แนะ ลดเสี่ยงเลี่ยงรับประทานอาหาร 8 ประเภทนี้จะมีอะไรบ้าง คลิกเลย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด แนะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง และประชาชนทั่วไป หลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารมีโซเดียมเกินความจำเป็น พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลด หวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารรสจัด ลดเสี่ยงเป็นโรคไตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็นวันไตโลก (World Kidney Day 2023) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม 2566 รณรงค์ภายใต้แนวคิด "Kidney Health For All- preparing for the unexpected supporting the vulnerable" "ตระหนักภัย ใส่ใจไต 
ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง"

สำหรับในประเทศไทย มีผู้ป่วยไตเรื้อรัง จำนวน 11.6 ล้านคน และมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องล้างไต และจากรายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด ซึ่งการป้องกันโรคไตเริ่มต้นง่ายๆ แค่ลดการบริโภคโซเดียม และเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้

ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า เกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม เมื่อเฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหารแต่ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไป อาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือจากความไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทนั้น ๆ

หากกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า การป้องกันภาวะไตเสื่อมที่จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังด้วยการบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม โดยบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน รวมทั้งหลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารที่เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกิน คือ 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

1.อาหารที่มีโซเดียมสูง

  • ผงชูรส
  • ผงปรุงรส
  • ซุปก้อน
  • ผงฟู
  • ซอสต่างๆ 

2.เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป

  • ไส้กรอก
  • กุนเชียง
  • แฮม 
  • หมูหยอง

3.อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม

  • เค้ก
  • พิซซ่า
  • ขนมอบต่าง ๆ 

4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง

  • ผลิตภัณฑ์จากนม
  • เครื่องในสัตว์
  • เมล็ดถั่ว
  • กุ้งแห้ง 

5.อาหารหมักดอง

  • ไข่เค็ม
  • ปลาเค็ม
  • ปลาร้า
  • ผักกาดดอง 

6.อาหารเติมเกลือ

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • ข้าวต้มซอง
  • โจ๊กซอง 

7.ลดการกินเนื้อสัตว์ลงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน

  • คอหมูย่าง 
  • เอ็นหมู
  • เอ็นวัว
  • ข้อไก่

8.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอล หรือไขมันอิ่มตัวสูง

  • ไข่แดง
  • ไข่ปลา
  • ปลาหมึก
  • หอยนางรม
  • ขาหมู รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของเนย และครีม เช่น เค้ก พิซซ่า และผลิตภัณฑ์ขนมอบ 

ทั้งนี้ ที่สำคัญประชาชนควรอ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียม รวมถึงโซเดียมแฝงที่ปรากฎบนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อทุกครั้ง หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) การลดกินเค็มเป็นการยืดอายุการทำงานของไตเพราะไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป และช่วยป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้