โควิด 19 แพร่ระบาดมาแล้วกว่า 3 ปี โดยมีการกลายพันธุ์ไปหลายชนิด โดยเฉพาะจากสายพันธุ์โอมิครอน
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญก็คือ หลังจากที่ติดเชื้อโควิด19 จะส่งผลให้เกิดอาการหลายรูปแบบที่ตามมา
ล่าสุดรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
ความเสี่ยงเรื่องไขมันในเลือดสูงหลังติดโควิด-19
หมอธีระ ระบุว่า ล่าสุด Xu E และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่
เพื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 52,000 คน
กับกลุ่มประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 2.6 ล้านคน
และกลุ่มประชากรในอดีตก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณ 2.5 ล้านคน
โดยรวมแล้วอายุเฉลี่ยราว 55-60 ปี และส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่า 80%
ซึ่งมีการติดตามไปกว่า 1 ปี
ทั้งนี้ สาระสำคัญพบว่า กลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น
จะมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบภาวะไขมันในเลือดสูงมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อประมาณ 25%
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเสี่ยงยิ่งมาก หากป่วยรุนแรง
แต่ถึงติดเชื้อแล้วมีอาการน้อย ก็ยังมีความเสี่ยงสูงกว่าไม่ติดเชื้อ
โดยเฉลี่ยแล้ว หากติดตามไป 1 ปี จะมีคนเป็นไขมันสูงมากขึ้นกว่าการไม่ติดเชื้อประมาณ 40 ใน 1,000 คน หรือ 4 คนจาก 100 คน
นี่คือข้อมูลล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ เมื่อ 6 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
และเป็นหนึ่งในปัญหาผิดปกติเรื้อรังหรือ Long COVID ที่ควรเฝ้าระวัง
หมอธีระ ยังระบุอีกว่า คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน แม้หายดีแล้ว ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง กินให้ดี พักผ่อน
ออกกำลังกายให้เพียงพอ สังเกตอาการผิดปกติ และไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ
ที่สำคัญคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดซ้ำ เพราะติดเพิ่มแต่ละครั้ง ย่อมมีความเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วยเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก