ผลวิจัยชี้ยาต้านโควิด "แพ็กซ์โลวิด"ลดความเสี่ยงตายได้ถึง 70%

18 ธ.ค. 2565 | 21:23 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 04:24 น.

ผลวิจัยชี้ยาต้านโควิด "แพ็กซ์โลวิด"ลดความเสี่ยงตายได้ถึง 70% ระบุลดเสี่ยงที่จะป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ราว 40%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุว่า

 

อัพเดต Paxlovid (แพ็กซ์โลวิด)

 

Dryden-Peterson S และทีมงานจาก Brigham and Women's Hospital และ Harvard T.H. Chan School of Public Health ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล Annals of Internal Medicine วันนี้ 13 ธันวาคม 2565

 

ศึกษาในประชากรวัยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 44,551 คน ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม 2565

 

พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาต้านไวรัส Paxlovid (Nirmatrelvir/ritonavir) ช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ราว 40% และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ราว 70%
 

แม้อัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะอยู่ในระดับต่ำราว 1% แต่การได้รับยาต้านไวรัสก็ลดความเสี่ยงลงไปได้อีก 

 

อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศก็ต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ มาประกอบด้วย อาทิ สถานการณ์การติดเชื้อที่เป็นอยู่ งบประมาณ ความคุ้มค่า ชนิดของยาต้านไวรัสต่างๆ

 

แพ็กซ์โลวิดลดความเสี่ยงตายได้ถึง 70%

 

อัพเดต Long COVID ในไอร์แลนด์

 

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจ เปิดเผยโดยสส.Denis Naughten ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 

 

สาระสำคัญคือ ปัจจุบันคาดว่าจะมีประชากรวัยผู้ใหญ่ในไอร์แลนด์ราว 6% ที่กำลังประสบปัญหา Long COVID 

 

โดยในกลุ่มผู้ป่วย Long COVID ข้างต้นนั้น 67% มีอาการผิดปกติต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 เดือน (เพศหญิง 69%, เพศชาย 60%)

 

ทั้งนี้ 84% รายงานว่าอาการผิดปกติที่มีนั้นทำให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ลำบากมากขึ้น

 

อาการผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า อาการหอบเหนื่อย ปัญหาด้านความจำ ปัญหาการนอนหลับ และอาการปวดกล้ามเนื้อ

ข้อมูลต่างๆ จากทั่วโลกนั้นตอกย้ำให้เรารับรู้ว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้นไม่ได้จบชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ สำคัญกว่านั้นคือ อาจเกิดอาการผิดปกติเรื้อรังระยะยาวได้ในทุกระบบของร่างกาย ทั้งสมอง ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร ฯลฯ

 

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

 

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงสถานที่เสี่ยง

 

ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด

 

เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก