ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า
โควิด 19 การใช้แอนติบอดีในการป้องกัน รักษา
ในระยะแรกเมื่อไม่มีวัคซีน เราก็ใช้แอนติบอดี้มาช่วยในการรักษา เช่นการใช้พลาสมาของผู้ที่หายจากโรค covid 19 แล้ว
ซึ่งมีแอนติบอดี้อยู่เปลียบเสมือนการให้เซรุ่ม หรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี มาช่วยในการรักษา
ต่อมาเมื่อมีวัคซีนในการสร้างภูมิต้านทานแอนติบอดี ความจำเป็นที่จะใช้ พลาสมา แอนติบอดี้ ก็ไม่มี
เพราะร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดี้ได้จากวัคซีน หรือการติดเชื้อแล้ว
เราจะใช้ในผู้ที่ติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
ไวรัสมีการกลายพันธุ์เรื่อยมา ทำให้ แอนตี้บอดี้ที่สังเคราะห์หรือสร้างขึ้นมาด้วยสายพันธุ์เดิม มีประสิทธิภาพน้อยลง หรือใช้ไม่ได้
จนมาถึงสายพันธุ์ปัจจุบัน เป็นโอมิครอน BA.2.75 แอนติบอดี้ที่ยังพอใช้ได้ในบ้านเราก็คงจะเป็น แอนติบอดี้ที่จัดหามาที่เรียกว่า LAAB (Evushield) และต่อไป
ไวรัสถ้าเปลี่ยนแปลงไปถึง สายพันธุ์ย่อย BQ.1, BQ.1.1 หรือ XBB ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพน้อยลงไปอีก
การใช้แอนติบอดี้ ที่มีอยู่ในบ้านเราขณะนี้ควรให้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิต้านทานไม่ตอบสนอง ได้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
ผู้กินยากดภูมิต้านทาน ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาหรือรังสีที่มีผลต่อภูมิต้านทาน มีอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร
แอนติบอดี้ LAAB ยังสามารถมาใช้ในการรักษา คล้ายกับแต่เดิมการให้พลาสม่า ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
หรือได้รับวัคซีน 1 หรือ 2 เข็ม เพราะระดับภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำหรือไม่มี การให้แอนติบอดี้แต่เริ่มแรกเมื่อติดเชื้อ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตลงได้
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเอง มี LAAB เพียงพอ ที่จะให้กับผู้ป่วยดังกล่าว ยาดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง
และขณะนี้โรคอยู่ในขาขึ้น ผู้ป่วยในกลุ่มเปราะบางดังกล่าว จึงควรได้รับแอนติบอดี้เป็นอย่างยิ่ง
รวมทั้งเมื่อมีการติดเชื้อ ก็ควรได้รับ เพื่อการรักษาด้วยแอนตี้บอดี้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
ยาที่มีอยู่ขณะนี้ ควรจะรีบใช้ในระลอกนี้ ไม่ควรเก็บไว้ เพราะเมื่อไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว ก็จะใช้ไม่ได้ผล หรือไม่มีประโยชน์