"WHO" ชี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนยึดครองโลกกว่า 99.9%

03 ธ.ค. 2565 | 10:39 น.

"WHO" ชี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอนยึดครองโลกกว่า 99.9% ระบุ BA.2 เพิ่มขึ้นเป็น 10.1% ด้านBA.4 ลดลงเหลือ 2.8% ขณะที่BA.2.75.x เพิ่มขึ้นเป็น 6.6%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
อัพเดตจาก WHO

 

องค์การอนามัยโลกออกรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 30 พฤศจิกายน 2565

 

Omicron (โอมิครอน) ครองการระบาดถึง 99.9% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
หากวิเคราะห์สายพันธุ์ในสัปดาห์ล่าสุด พบว่า BA.5 มีสัดส่วน 73% 

 

,BA.2 เพิ่มขึ้นเป็น 10.1% (เดิม 7.9%) 

 

,BA.4 ลดลงเหลือ 2.8% (เดิม 3.4%)

 

สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวลสำหรับทั่วโลกนั้น พบว่า BQ.1.x นั้นมีการระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 27.3% (เดิม 23.1%)

ในขณะที่ BA.2.75.x เพิ่มขึ้นเป็น 6.6% (เดิม 5.4%), ส่วน XBB เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.8% (เดิม 2.7%)

 

ปัจจุบัน BQ.1.x นั้นแตกหน่อต่อยอดไปจนมีลูกหลานกว่า 30 สายพันธุ์ย่อยแล้ว
อัพเดต Long COVID หลังติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron

 

Magnusson K และคณะ จากประเทศนอร์เวย์ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Nature Communications เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

 

โดยศึกษาความชุก และความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ของ Long COVID ในกลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา จำนวน 23,767 คน 

 

โควิดสายพันธุ์โอมิครอนยึดครองโลกกว่า 99.9%

 

และ Omicron จำนวน 13,365 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 105,297 คน

 

สาระสำคัญคือ ในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากที่ติดเชื้อนั้น ความเสี่ยงและอัตราการเกิดปัญหา Long COVID ของกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และ Omicron นั้นไม่แตกต่างกัน 

 

แต่หลังจาก 3 เดือนเป็นต้นไป กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron นั้นจะมีอัตราการเกิดปัญหา Long COVID โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าอยู่บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการผิดปกติหลักๆ ของ Long COVID ในระบบต่างๆ ของร่างกายนั้น 

หากเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อแล้ว การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า Omicron ไม่ได้แตกต่างจากเดลตา

 

ดังนั้น จึงตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

 

สถานการณ์ปัจจุบันของไทยนั้นมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน

 

การใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและคนใกล้ชิด (Responsible living) เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเป็นกิจวัตร

 

หากไม่สบาย ตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าจะอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ 

 

ก่อนออกมาใช้ชีวิตและป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์

 

แต่หากมีอาการป่วย แต่ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ควรตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วันติดกัน

 

คอยสังเกตรอบข้าง รักษาระยะห่างจากคนที่ไม่ได้ป้องกันตัว ใช้เวลาสั้นๆ ในการพูดคุยพบปะหรือบริการ

 

เลี่ยงการกินดื่มร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับคนอื่น
เลี่ยงสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก