หมอธีระวัฒน์ เตือนโควิดระลอกใหม่แนวโน้มดื้อยา พบอาการให้รีบรักษาทันที

29 พ.ย. 2565 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2565 | 15:19 น.
535

‘นพ.ธีระวัฒน์’ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ เตือนโควิดระลอกใหม่จากสายพันธุ์ย่อยใหม่ แนวโน้มดื้อยา ติดแล้วอาการแตกต่างจากเดิม ให้เริ่มรักษาโดยเร็วที่สุด

 

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึง สถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน เมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) โดยระบุเตือนเกี่ยวกับ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยใหม่ แนวทางสังเกตอาการ และการป้องกันตัวเอง ไว้ดังนี้

 

1.ไวรัสไม่ธรรมดา การที่มีการติดหนาแน่นใหม่ แสดงว่าไวรัสไม่ใช่ตัวเดิมที่เคยมีในปีนี้ ทั้งโอมิครอน BA.1/2 และแม้แต่ BA.4/5 แต่เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ และมาเป็นกลุ่มไม่ใช่มาทีละตัว

 

2.ลักษณะอาการ ไม่ได้มีแต่ไข้ น้ำมูก เจ็บคอ ไอ แต่ออกมาในลักษณะเฉียบพลัน มีไข้ หนาวยะเยือก มือเท้าเย็น ความดันตกโดยที่ไม่มีน้ำมูกหรือมีแต่เจ็บคอเล็กน้อย หรือออกมาในรูปของอาการซึม ทางระบบสมอง หรือระบบหัวใจ

        

 3. ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ขึ้นช้า หรือขึ้นขีดจางๆ โดยอาการเริ่มไปก่อนแล้วเป็นวัน

         

4. ลักษณะสายย่อยใหม่นี้ในสหรัฐฯ ประกาศเตือนว่า แอนติบอดีที่ใช้ในการรักษาจะใช้ไม่ได้ รวมทั้งแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) หรือ Evusheld ขณะเดียวกัน ยัง มีแนวโน้มที่จะดื้อกับยาต้านไวรัส เช่น โมลนูพิราเวียร์ ด้วย

        

5. วัคซีนที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสามเข็มหรือกระตุ้นเข็มที่สี่ ถึงแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพ แต่จะถูกจำกัดลงมาก และระยะเวลาที่คุ้มครองจะสั้นลง ทั้งนี้ รวมไปถึงวัคซีนใหม่ที่มีโอมิครอน BA.4/5 รวมอยู่ด้วยและใช้ในสหรัฐฯ แล้ว

         

6. การติดเชื้อธรรมชาติที่ติดไปแล้ว กลับพบว่า มีบทบาทในการลดความรุนแรงได้ดีกว่าวัคซีน แม้ว่าจะไม่ได้ป้องกันการติดใหม่ก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้พยายามไปติดเชื้อ

        

 7. เรื่องความรุนแรงของโรคต้องจับตาดูแบบวันต่อวัน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการติดที่มากขึ้น แต่เป็นเรื่องความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงแก่ชีวิต

         

8. เมื่อมีอาการป่วย ต้องนำไปสู่การรักษาโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่เริ่มมีอาการเริ่มต้น โดยไม่ต้องสนใจว่าสองขีดหรือไม่ ด้วยยาฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้ เน้นย้ำว่า ยาแต่ละยี่ห้อจะใช้ปริมาณไม่เท่ากัน ให้ดูตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข

         

อย่างไรก็ตาม ถ้ารักษาช้าจะไม่ได้ผล ถ้าภายใน 1-2 วัน อาการยังต่อเนื่องหยุดไข้และอาการไม่ได้ โดยต้องกินยาลดไข้อยู่ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง หมายความว่าต้องพบแพทย์และวางแผนการรักษาต่อว่าเป็นโควิด-19 หรือไวรัสตัวอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายกันอีกมาก ทั้งนี้ ฟ้าทลายโจร ยังออกฤทธิ์ครอบคลุมกับไวรัสมากมายหลายชนิด กินให้เร็ว กินให้ถูกขนาด

         

"ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องงดกิจกรรม กิจการ จนไปถึงล็อกดาวน์แบบ ในช่วงปี 63 แต่ต้องอยู่กับโควิดให้ได้ และปรับตัวตามสถานการณ์" นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ