จีนยอมคลายกฎเหล็กคุมโควิด หลังกระแสม็อบต้านทั่วประเทศ

29 พ.ย. 2565 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2565 | 13:32 น.
2.6 k

รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลงบ้างแล้ว หวังลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่ลุกลามไปทั่วประเทศ

 

ล่าสุดวานนี้ (28 พ.ย.) รัฐบาลจีน ได้ผ่อนคลาย มาตรการที่เข้มงวด ใน การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลงบ้างแล้ว โดยทางการ กรุงปักกิ่ง ประกาศยกเลิกการตั้งสิ่งกีดขวางทางเข้าอพาร์ทเมนท์ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ภายใน โดยระบุว่า จะต้องไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือการออกจากอาคารในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

ส่วน เมืองกว่างโจว ประกาศงดการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบครอบคลุมครั้งใหญ่สำหรับประชาชนในวงกว้าง โดยอ้างถึงความจำเป็นในการรักษาทรัพยากร ขณะที่ เมืองอุรุมชี เมืองหลวงของซินเจียง ประกาศเปิดตลาดสดและอนุญาตให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการในสัปดาห์นี้ สำหรับท้องที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำ รวมทั้งให้บริการรถโดยสารสาธารณะ

 

มาตรการผ่อนคลายดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ชาวจีนพากันรวมตัวกันบนท้องถนนในเมืองต่างๆ ซึ่งรวมถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองอู่ฮั่น เฉิงตู ซีอาน และนานกิง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงต่อการที่รัฐบาลยังคงล็อกดาวน์เมืองต่าง ๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม

มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดราวกฎเหล็ก ทำให้ประชาชนลุกฮือประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศจีน

 

นอกจากนี้ ประชาชนยังได้แสดงความไม่พอใจที่เกิดเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตถึง 10 รายจากเหตุเพลิงไหม้ในอาคารแห่งหนึ่งที่เมืองอุรุมชี ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล และทำให้มีการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลาออกจากตำแหน่งด้วย

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่า ถึงแม้ทางการจีนผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มที่จะยกเลิก นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ในอนาคตอันใกล้

 

ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลาออกจากตำแหน่งด้วย

กูรูคาดม็อบต้านโควิดในจีนจะฝ่อไปเองในไม่ช้า

การที่ชาวจีนจำนวนมากพากันลุกฮือประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปธน.สี จิ้นผิง ลาออกจากตำแหน่ง นับเป็นการท้าทายอำนาจของผู้นำจีนเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เพียงไม่ถึง 1 เดือน

 

อย่างไรก็ดี นักวิชาการระบุว่า รัฐบาลจีนจะยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ และเหตุการณ์ประท้วงจะไม่ลุกลามเหมือนกับวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989

 

นายฮุง โฮ-ฟุง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ให้ความเห็นว่า การที่จะเกิดเหตุการณ์ประท้วงวุ่นวายถึงขั้นเทียนอันเหมินในปี 1989 จำเป็นต้องเกิดความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัดในคณะผู้ปกครองของจีน

 

แต่เห็นได้ชัดว่า ณ ขณะนี้ ปธน.สี จิ้นผิง สามารถขจัดภัยคุกคามต่อการครองอำนาจของเขาในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนต.ค. ซึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 พร้อมกับเปิดตัว 7 ผู้นำในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ชุดใหม่ ที่มีความจงรักภักดีต่อเขา

 

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เชื่อว่า หากไม่มีสัญญาณความแตกแยกที่ชัดเจนของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ การประท้วงที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ได้ไม่นาน และเป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าปธน.สีจะยอมอ่อนข้อ ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เองก็มีประสบการณ์มาก่อนแล้วในการรับมือกับการชุมนุมประท้วง