ฝุ่น PM2.5 ถล่มภาคเหนือ กรมอนามัย รับมือ 17 จังหวัดวิกฤต "สีส้ม"

21 ก.พ. 2568 | 14:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2568 | 14:46 น.

กรมอนามัย เร่งสั่งการ 3 ศูนย์อนามัยภาคเหนือรับมือฝุ่น PM2.5 พร้อมยกระดับคลินิกมลพิษออนไลน์ หลังพบ 17 จังหวัดอยู่ในระดับสีส้ม เตือนประชาชนและกลุ่มเสี่ยงปฏิบัติตาม 5 ข้อหลักเพื่อความปลอดภัย

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์และคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 20 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่า มีสถานการณ์ดีขึ้นในหลายพื้นที่แต่ยังอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) จำนวน 17 จังหวัดและระดับปานกลาง (สีเหลือง) จำนวน 32 จังหวัด

ขณะเดียวกันสถานการณ์จุดความร้อนและอัตราการระบายอากาศ ช่วงวันที่ 20 – 26 กุมภาพันธ์ 2568 จุดความร้อนในประเทศลดลง แต่จุดความร้อนในต่างประเทศสูง อัตราการระบายอากาศดี การสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลดลงในระดับดี – ปานกลาง เน้นย้ำให้ศูนย์อนามัยที่ 1 - 12 และ สสม.ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างต่อเนื่อง 

ผลการดำเนินงาน พบว่า กรมอนามัยได้ลงพื้นที่สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการรับมือและดูแลสุขภาพตนเองจากฝุ่น PM2.5 รวมทั้งสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานสร้างห้องปลอดฝุ่น และมอบมุ้งสู้ฝุ่นส่งผลให้ขณะนี้มีห้องปลอดฝุ่น จำนวน 15,758 ห้อง ใน 71 จังหวัดและมอบมุ้งสู้ฝุ่น 1,363 ชุด รวมทั้งเร่งให้ทุกหน่วยงานนำรถยนต์ของทางราชการไปตรวจวัดควันดำ และตรวจเครื่องยนต์ตามมาตรฐาน

จากการคาดการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ มีแนวโน้มฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่อง เนื่องจากแนวโน้มจุดความร้อนในพื้นที่เริ่มสูงขึ้นและอัตราการระบายอากาศต่ำ

ฝุ่น PM2.5 ถล่มภาคเหนือ กรมอนามัย รับมือ 17 จังหวัดวิกฤต \"สีส้ม\"

ในช่วงวันที่ 26 – 27 กุมภาพันธ์ 2568 ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเตรียมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และปฏิบัติตนตามระดับ ค่าสี PM2.5 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคคลทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยยึดหลัก 5 ข้อ ดังนี้ 

เช็ก : เช็กค่าฝุ่นจากแอฟพลิเคชั่น Air4Thai หรือ Life Dee 

ใช้ : ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองทุกครั้ง เช่น หน้ากาก N95 

เลี่ยง : เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 

ลด: ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น การจุดธูป การปิ้งย่าง การเผา การสูบบุหรี่ การใช้รถส่วนตัว รวมถึงตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำ 

ปิด: ปิดประตู-หน้าต่าง ให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้าน ที่พัก หรือทำห้องปลอดฝุ่น 

นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ยังได้สั่งการให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ปฏิบัติการ 3 ข้อสั่งการ ดังนี้ 

1. สนับสนุนการใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการควบคุมเหตุรำคาญ กรณี การลักลอบเผาในที่โล่งแจ้ง หรือเผาพื้นที่การเกษตร ตลอดจนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นในพื้นที่ ร่วมกับ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี 

2. ยกระดับคลินิกมลพิษออนไลน์ของศูนย์อนามัย เพื่อรองรับการให้บริการสุขภาพ กรณีมลพิษที่มาจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมอื่นตามบริบทของพื้นที่ 

3. ปิดศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินกรมอนามัย (HPEHOC) ของส่วนกลางให้ถือเป็นภารกิจการปฏิบัติงานปกติและศูนย์อนามัยยังต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ ร่วมกับทุกหน่วยงานอย่างเข้มข้น ซึ่งประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพได้ที่ สายด่วน 1478 เช่นเดิม

ฝุ่น PM2.5 ถล่มภาคเหนือ กรมอนามัย รับมือ 17 จังหวัดวิกฤต \"สีส้ม\"