สัญญาณร้ายเมื่อป่วย “ไข้หวัดใหญ่” อันตรายถึงชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่

15 ก.พ. 2568 | 11:41 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2568 | 12:04 น.

เมื่อป่วย “ไข้หวัดใหญ่” อย่าชะล่าใจ เสี่ยงปอดอักเสบ หัวใจวาย อันตรายถึงชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สังเกตอาการเมื่อมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม ควรพบแพมย์ก่อนสายเกินไป

พญ.มัณฑนา สันดุษฎี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “ไข้หวัดใหญ่” ไม่ใช่แค่ “ไข้ธรรมดา” อย่างที่หลายคนเข้าใจและมีความแตกต่างกันอย่างมาก

โดยไข้หวัดธรรมดาเกิดจากไวรัสหลายสายพันธุ์ เช่น ไรโนไวรัส  (Rhinovirus) โคโรนาไวรัส (Coronavirus) แต่ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา อาการหลักคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ, ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บคอ ไอแห้ง หรือมีเสมหะ, อ่อนเพลียมาก, บางครั้งอาจมีอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย 

สัญญาณร้ายเมื่อป่วย “ไข้หวัดใหญ่” อันตรายถึงชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปีมี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่ระบาดทั่วไป อย่าชะล่าใจเมื่อมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเสี่ยงกับอันตรายร้ายแรง เพราะหากอาการลุกลามเกิดภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หัวใจล้มเหลว จะถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการไข้หวัดใหญ่ ที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

  1. ปอดอักเสบติดเชื้อ(Pneumonia) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดปอดอักเสบและติดเชื้อที่ปอด ส่งผลให้หายใจลำบาก และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหากอาการรุนแรง
  2. ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว(RespiratoryFailure) การติดเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation)
  3. หัวใจวาย (Heart Failure) ไข้หวัดใหญ่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นหัวใจวาย
  4. ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ในบางกรณีที่รุนแรง ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท อาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรง ชัก หรือหมดสติ
  5. ภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) ในบางกรณีรุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้อสลาย     ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะไตวายเฉียบพลัน

สัญญาณร้ายเมื่อป่วย “ไข้หวัดใหญ่” อันตรายถึงชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพดียังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งอาการป่วยมักอยู่ระหว่าง 3 วัน ถึง 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียยาวนานได้หลายสัปดาห์

พญ.มัณฑนา กล่าวว่า แม้โรคไข้หวัดใหญ่ในคนที่อาการไม่มากสามารถหายเองได้ แต่การพบแพทย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด การได้รับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) จะทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ปัจจุบันการป้องกัน “ไข้หวัดใหญ่” ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของอาการ และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ปอดอักเสบและหัวใจวาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ที่จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง ได้แก่

  • เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี
  • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้พิการทางสมอง
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด และโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน และหญิงตั้งครรภ์

พญ.มัณฑนา กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่อัปเดตทุกปีโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อไวรัสที่มีความเสี่ยงระบาดสูง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 หรือ 4 สายพันธุ์ที่ฉีดป้องกันไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และ B อีก 1 หรือ 2 สายพันธุ์ย่อย ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุรแรงของอาการ ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการติดเชื้อและโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่น 

สัญญาณร้ายเมื่อป่วย “ไข้หวัดใหญ่” อันตรายถึงชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่แนะนำให้ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคไตเรื้อรัง, ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด ฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine) วัคซีนชนิดนี้จะช่วยลดความรุนแรงของการเกิดปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อตัวนี้ โดยวัคซีนนี้ปัจจุบันฉีดเพียง 1 เข็ม (PCV20) และป้องกันได้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันตัวเองจากไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ๆ ด้วยการ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์, พักผ่อนให้เพียงพอ, ล้างมือบ่อย ๆ และที่สำคัญต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี