กรมควบคุมโรค เปิดตัวเลขปี 67 ไข้หวัดใหญ่สูงกว่าพยากรณ์พบมากในเด็ก

14 ม.ค. 2568 | 14:55 น.

กรมควบคุมโรค เผย ตัวเลขปี 2567 พบ ป่วยโควิด 19 อัตราเสียชีวิตมากในกลุ่มผู้สูงอายุแต่เชื้อไม่รุนแรง คาดปี 68 ลดน้อย ขณะที่ "ไข้หวัดใหญ่" พบอัตราป่วยสูงกว่าที่พยากรณ์ส่วนใหญ่พบในเด็ก ขณะที่อัตราการเสียชีวิตยังเป็นผู้สูงอายุ 

14 มกราคม 2568 พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค แถลงข่าว ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัยยั่งยืน โดยสรุป 3 โรคหลักในปี 2567 คือ โควิด 19 โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก 

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ตลอดปี 2567 ในส่วนของ โควิด 19 มีผู้ติดเชื้อสะสม 769,200 ราย อัตราป่วย 1,162.43 ต่อประชากรแสนคน เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย โดยกลุ่มอายุที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุ 30-39 ปี และกลุ่มอายุ 20-29 ปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสม 222 ราย อัตราตาย 0.33 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตายร้อยละ 0.03 สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 1 ต่อ 1.22

ทั้งนี้ กลุ่มเสียชีวิตมากสุด 3 อันดับแรก ยังเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุ 50-59 ปี และ 30-39 ปีตามลำดับ จากข้อมูลในปี 2567 พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลนอนในโรงพยาบาล และเสียชีวิต พบสูงสุดในกลุ่มสูงอายุมากที่สุด

กรมควบคุมโรค เปิดตัวเลขปี 67 ไข้หวัดใหญ่สูงกว่าพยากรณ์พบมากในเด็ก

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันปี 2568 ผ่านมา 2 สัปดาห์ปี 2568 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 กว่า 3.4 พันราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต 3 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ  ภูเก็ต ชลบุรี และสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการท่องเที่ยวมาก ทั้งนี้  จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรคในปี 2568 อัตราการติดเชื้อโควิดจะน้อยกว่าปี 2567 ขณะที่สายพันธุ์โควิดยังคงเป็น JN.1 และมีความรุนแรงลดลง

กรมควบคุมโรค เปิดตัวเลขปี 67 ไข้หวัดใหญ่สูงกว่าพยากรณ์พบมากในเด็ก

ด้าน พญ.จุไร กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ปี 2567 ว่า มีผู้ป่วยสะสม 668,027 รายซึ่งสูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า ผู้เสียชีวิต 51 ราย อายุต่ำสุด 2 เดือน สูงสุด 90 ปี ประเด็นสำคัญของการเสียชีวิตพบมีโรคประจำตัวถึงร้อยละ 56.86 เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 45.10 และมีประวัติได้รับวัคซีนร้อยละ 3.92

ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ขณะที่พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี อายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อป่วยจะนำเชื้อไปติดสู่ผุ้สูงอายุที่บ้านจึงขอให้โรงเรียนมีมาตรการในการคัดกรองเพื่อป้องกันการระบาด

ส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจพบในปี 2567 ยังเป็นสายพันธุ์ A/H1N1 รองลงมาเป็น A/H3N2 และสายพันธุ์ B Victoria ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์อยู่ในวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด ขณะที่ในปี 2567 มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนถึง 64 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจำ วัด ศูนย์ฝึกอบรม และค่ายทหาร จึงขอให้มีมาตรการในการควบคุมป้องกันอย่างต่อเนื่อง

กรมควบคุมโรค เปิดตัวเลขปี 67 ไข้หวัดใหญ่สูงกว่าพยากรณ์พบมากในเด็ก

ทั้งนี้ ในปี 2567 ไข้หวัดใหญ่ยังมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างสูงและสูงเกินกว่าค่าพยากรณ์ที่วางไว้ ดังนั้น จึงต้องเคร่งครัดมาตรการในการป้องกันไข้หวัดใหญ่มากขึ้น ส่วนสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ปี 2568 นั้น จากปี 2567 พบป่วยจำนวนมากจึงทำให้การคาดการณ์ปี 2568 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งนับตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมาพบผู้ป่วยแล้ว จำนวน 14,537 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต