ฝุ่น PM 2.5 ภัยเงียบแทรกซึมชั้นผิวหนัง กระตุ้นภูมิแพ้-ผื่นคันรุนแรง

20 ม.ค. 2568 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2568 | 15:25 น.

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือน ฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ผิวหนังผ่านรูขุมขนได้โดยตรงพร้อมพ่วงสารเคมีอันตราย ทำลายเซลล์ผิวส่งผลระยะยาวทั้งริ้วรอยและความเสื่อม แนะผู้มีอาการแพ้ผิวหนังต้องระวังเป็นพิเศษ

ในสัปดาห์นี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้นแต่ทราบกันหรือไม่ว่า ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพผิวหนังของเราอีกด้วย

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอนส่งผลกระทบต่อสุขภาพผิวหนังได้ เช่น ก่อให้เกิดการอักเสบ ผื่นคัน และทำให้โรคผิวหนังที่มีอยู่เดิมกำเริบมากขึ้น

การดูแลและปกป้องตนเองไม่ให้สัมผัสกับฝุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของประชาชน

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่าง ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนังด้วย

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรูเปิดของผมหรือขนได้โดยตรงหรือสามารถเข้าสู่ผิวหนังที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ (barrier-disrupted skin) เช่น ผิวหนังที่เป็นโรคภูมิแพ้ (atopic dermatitis)

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์

นอกจากนี้ PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่าง ๆ นำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรงและทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง 

ฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนัง

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การสัมผัสกับฝุ่นต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้น

นอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดจุดด่างดำเพิ่มมากขึ้นบริเวณใบหน้า เกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวอาจเกิดผื่นคันผื่นกำเริบมากขึ้นได้โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง 

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง

ขณะที่แพทย์หญิงจันทร์จิรา สวัสดิพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติม PM 2.5 ไม่เพียงแค่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจแต่ยังเป็นภัยเงียบที่ทำร้ายผิวหนัง เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถแทรกซึมสู่ผิวก่อให้เกิดการอักเสบ ผื่นคัน รวมทั้งอาจกระตุ้นให้โรคผิวหนังที่มีอยู่เดิมกำเริบได้

การปกป้องผิวจากฝุ่น PM 2.5

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM 2.5 โดยตรง

กรณีมีผื่นคันหลังการสัมผัสฝุ่น PM 2.5

  • หลีกเลี่ยงการแกะเกา
  • การเสียดสีและการระคายเคืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นมากยิ่งขึ้น
  • ควรใช้สบู่อ่อน ๆ ในการทำความสะอาดร่างกาย
  • ทาครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีอาการคันสามารถทานยาแก้แพ้ที่เป็นสารต้านฮิสตามีนเพื่อลดอาการได้ ทั้งนี้ การซื้อยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดผื่นหรือการอักเสบของผิวหนังควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร
  • หากเป็นผื่นมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป