มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่เห็นชอบข้อเสนอ "งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2569" วงเงินกว่า 2.72 แสนล้านบาท งบเหมาจ่ายรายหัว 4,298.24 บาทเพื่อดูแลคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทอง จำนวน 47.50 ล้านคน พร้อมจัดสรรงบ 2.1 หมื่นล้านบาทเพื่อสนับสนุนนโยบายสุขภาพของรัฐบาล จำนวน 26 รายการ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ให้กับคนไทย อีก 10 รายการ วงเงินกว่า 1.2 พันล้านบาท
สำหรับบริการใหม่/สิทธิประโยชน์ใหม่ที่ให้กับสิทธิบัตรทองนั้น มีทั้งในส่วนของนโยบายของรัฐบาล และสิทธิประโยชน์ใหม่ของ สปสช.ที่มุ่งให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคซึ่งบางรายการทำมาต่อเนื่อง และบางส่วนมีการเพิ่มเติมใหม่เพื่อให้สอดรับกับปัญหาสุขภาพของคนไทย
ล่าสุดในการจัดทำงบประมาณกองทุนบัตรทองปีงบประมาณ 2569 บอร์ด สปสช. เห็นชอบในส่วนของการสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล จำนวน 26 รายการ เป็นวงเงินจำนวน 21,058.58 ล้านบาท อาทิ บริการระบบการแพทย์ทางไกลที่เพิ่มเติมการดูแลคนไทยในต่างแดน ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียน และตู้ห่วงใย, บริการหน่วยนวัตกรรม 7 ประเภท, บริการสร้างเสริมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) บริการลดการนอนในโรงพยาบาลในผู้ป่วยโรคหอบหืด
ศูนย์ให้คำปรึกษาจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วนเลิกบุหรี่ พอกเข่าโดยสมุนไพร การดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวในชุมชนให้มี Caregiver การตรวจคัดกรองโรคด้วยตนเอง ทั้งโรคพยาธิใบไม้ตับ เอชไอวี และเอชพีวี, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงชนิด 9 สายพันธุ์ ตลอดจนบริการสุขภาพกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากไล่เรียง 5 อันดับแรกที่ใช้เม็ดเงินงบประมาณสูงที่สุด ได้แก่
1.นโยบายการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวในชุมชนให้มี Caregiver วงเงิน 5,101.20 ล้านบาท เป้าหมาย 600,200 ราย
2. บริการไตวายเรื้อรัง PD รายใหม่สัดส่วน50% ของรายใหม่ และ PD first วงเงิน 3,758.37 ล้านบาท เป้าหมาย 20,953 ราย ตามนโยบายลดโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ (NCD)
3. บริการในหน่วยนวัตกรรม คลินิกเวชกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิก และโมบายทันตกรรม ร้านยา Lab นอกหน่วย ส่งยาทางไปรษณีย์ ซึ่งต่อยอดมาจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล วงเงิน 3,710.08 ล้านบาท เป้าหมาย 16.45 ล้านครั้ง
4. การใช้ยาสมุนไพร ตามนโยบายการขับเคลื่อนสมุนไพรในระดับประเทศ วงเงิน 1,713.12 ล้านบาท เป้าหมาย 15.63 ล้านครั้ง และ 5.รายการส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับโรคไม่ติดต่อ NCD ตามนโยบายลดโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ (NCD) วงเงิน 1,252.27 ล้านบาท เป้าหมาย 6.21 ล้านราย
นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ให้กับคนไทย อีก 10 รายการ เป็นวงเงินจำนวน 1.2 พันล้านบาท ประกอบด้วย
1.สายด่วนเลิกเหล้า วงเงิน 10.75 ล้านบาท
2.สายด่วนท้องไม่พร้อม/สายด่วนวัยรุ่น วงเงิน 10.75 ล้านบาท
3.ธนาคารนมแม่ วงเงิน 2.68 ล้านบาท
4.วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็ก (PCV) วงเงิน 225.02 ล้านบาท
5.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับเด็ก 3-5 ปี วงเงิน 138.66 ล้านบาท
6.ตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน วงเงิน 202.20 ล้านบาท
7.ตรวจคัดกรอง Autistic disorder ด้วยเครื่องมือ TDAS วงเงิน 91.41 ล้านบาท
8.ชุดตรวจ ในปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน จำนวน 440 ล้านบาท
9.การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่เบาหวานระยะสงบ จำนวน 39.33 ล้านบาท และ 10.บริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชน วงเงิน 115.74 ล้านบาท
ที่สุดแล้วเชื่อว่า การจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้กับการเพิ่มบริการใหม่/สิทธิประโยชน์ใหม่จะปลดล็อกปัญหาสุขภาพให้กับคนไทยในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพได้ดีจะบรรลุเป้าประสงค์ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้