รพ.ราชวิถี สุดล้ำเตรียมนำ AI ช่วยอ่านภาพดวงตาผู้ป่วยเบาหวาน

22 ส.ค. 2565 | 16:59 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2565 | 00:16 น.

รพ.ราชวิถี สุดล้ำเตรียมนำ AI ช่วยอ่านภาพดวงตาผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 90% ซึ่งมากกว่าบุคลากรที่อบรมทั่วไป

ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ระบุใน เวทีเสวนา : “คนไทย” ทำอย่างไร ให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ซึ่งจัดโดย สื่อเครือเนชั่น ในประเด็นนวัตกรรมสุขภาพโดยเฉพาะดวงตาในผู้สูงอายุ ว่า 

 

จากข้อมูลพบว่าคนไทยยังขาดการตระหนักรู้เรื่องการดูแลสายตาเพราะบางคนมองว่าเมื่ออายุมากขึ้นปัญหาสายตาเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถดูแลสายตาตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งควรเริ่มตรวจสุขภาพตาตั้งเเต่วัยก่อนเข้าเรียน ถัดมาในวัย 50-60 ปี ซึ่งบางคนอาจมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานจำเป็นจะต้องตรวจดวงตา

 

รพ.ราชวิถี สุดล้ำเตรียมนำ  AI ช่วยอ่านภาพดวงตาผู้ป่วยเบาหวาน

ปัจจุบันเรื่องการตรวจสายตาผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมการอ่านภาพซึ่งสามารถดูผลเบื้องต้นระดับหนึ่ง มีความแม่นยำประมาณ 80% เมื่อเทียบกับการตรวจกับจักษุแพทย์ แต่จะต้องมีการฝึกอบรมทุกปี จึงมีการหันมาใช้ในปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยอ่านภาพ ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีได้ทำวิจัยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยในเดือนตุลาคมนี้ จะดำเนินการใช้ AI ในการช่วยอ่านภาพดวงตาของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 90% ซึ่งมากกว่าบุคลากรที่อบรมทั่วไป

“เรื่องเบาหวานมีโครงการเอากล้องไปสกรีนคนไข้ คนที่เป็นเบาหวานในไทยเยอะ เเละเสี่ยงเบาหวานขึ้นตา เเต่มี 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้เบาหวานขึ้นตาช้าลง คือต้องคุมน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด เเละความดันเลือด ถ้าคุมได้ โอกาสขึ้นตาน้อยลง"

 

ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ระบุว่า ในเรื่องสายตาของคนไทยนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่หลากหลาย เช่น คัดกรองต้อกระจก เด็กไทยสายดี คัดกรองเบาหวาน เป็นต้น ขณะที่ในด้านของหมอจักษุ ก็มีกรรมการเป็นทำหน้าที่เป็นกลุ่มของหมอจักษุทั่วประเทศ ซึ่งในประเทศไทยมีการแบ่งเขตสุขภาพ 13 เขต โดยในแต่ละเขตมาจะรวมกัน เพื่อประชุมร่วมกันทุก 3-4 เดือน เเละในโครงการก็มีวางแผน ปฏิบัติตรวจสอบ ปรับปรุง อยู่ตลอดเวลา มีการหารือร่วมกัน เพื่อพยายามปรับปรุงในดีขึ้น เช่น โครงการใช้ AI อ่านภาพเบาหวานขึ้นตา ซึ่งในอนาคตก็อาจจะสกรีนโรคได้ดีมากขึ้น