จับตา! "โควิดระลอกใหม่" ในไทย ส่งสัญญาณเตือนเตรียมพร้อมรับมือ

05 ก.ค. 2565 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 17:36 น.
2.8 k

จับตา! "โควิดระลอกใหม่" ในไทย คาดติดเชื้อสูงสุดเดือน ก.ย.นี้ สธ. "ส่งสัญญาณเตือน" ส่งหนังสือด่วนที่สุด เตรียมพร้อมรับ

"โควิดระลอกใหม่" ในไทยเป็นเรื่องที่ต้องจับตา หลังจากวันที่ 1 ก.ค. 2565 ประเทศไทยกำหนดให้โรคโควิด สู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) มีผลให้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดผ่อนคลายลง

 

ขณะที่มาตรการด้านสาธารณสุขในระยะหลังการระบาดใหญ่ เป็นไปตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) เมื่อ 17 มิ.ย. ให้ผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและการเดินทางเข้าประเทศ โดยให้มีผลในวันที่ 1 ก.ค.

แผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19)

  • ระยะขาขึ้น (Combatting) 12 มีนาคม - ต้นเมษายน 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
  •  ระยะทรงตัว (Plateau) เมษายน - พฤษภาคม 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น
  • ระยะขาลง (Declining) ปลายพฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง
  • ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ออกจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป

แม้ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ไทยจะเข้าสู่ระยะ หลังการระบาดใหญ่ เเต่ล่าสุด กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไทย ระบุว่า อัตราการเสียชีวิต สอดคล้องกับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยที่เพิ่มขึ้น สำหรับในประเทศไทยอยู่ในระยะที่พบการระบาดเพิ่มเติมหลังจากโอมิครอนระบาดของสายพันธุ์ BA.1 / BA.2 ดังนั้น BA.4 / BA.5 ก็จะมีผลตามมา

 

เมื่อดูภาพรวมรายสัปดาห์ช่วงวันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค.2565 ผู้ป่วยรายใหม่ที่มาโรงพยาบาลสะสม 16,000 ราย เฉลี่ยประมาณ 2,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตสะสม 106 ราย ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 161 ราย แต่พบว่ายังเป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด ซึ่งเกือบ 50% ไม่ได้วัคซีน บางคนฉีดเข็มเดียว จึงไม่สามารถป้องกันอาการรุนแรง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ อีกประมาณ 30% ฉีด 2 เข็มแต่เกิน 3 เดือนแล้ว

 

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่และท่องเที่ยว มีผู้ติดเชื้อและป่วยนอนรักษาเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาควบคุมการระบาดในบางส่วน อาจมีการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันโรค 

 

ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไปถึงปี 2566 หลังจากการเกิดระลอกใหญ่ของโอมิครอนช่วงมกราคมที่ผ่านมา คาดว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมาจากการผ่อนคลายมาตรการ สำหรับการระบาดโควิดที่จะพบคือ ช่วงสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 35 หรือช่วง 10 สัปดาห์ ไปจนถึงเดือน กันยายนนี้ที่จะเป็นช่วงพีคสุด  ทำให้อาจมีผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 

 

สภานการณ์ข้างต้นสอดคล้องกับเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ภาพหนังสือราชการ “ด่วนที่สุด” ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมข้อความระบุว่า "ส่งสัญญาณเตือน เตรียมพร้อมรับโควิด ระลอกใหม่

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือสั่งการ ด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้หน่วยบริการสุขภาพในสังกัด เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้ม ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ เตรียมสำรองเตียง เตรียมรับผู้ป่วยหนักและการรับส่งต่อ ขอประชาชนอย่าได้ประมาท

 

โดยระบุว่า จากสถานการณ์การรายงานผู้ป่วยโควิด 19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น หน่วยบริการสุขภาพประจำต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่งสูงขึ้นเพื่อให้การให้บริการรักษาพยาบาล รวมทั้งมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีประสิทธิภาพ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการปลอดภัย ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

กระทรวงสาธารณสุข เห็นควรแจ้งสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อม ดังนี้

  1. สื่อสารให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับทราบสถานการณ์และผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการและระมัดระวังป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ(Universal Precaution)
  2. สำรวจและเตรียมความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เตรียมความพร้อมในการสำรองเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยรวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
  4. เตรียมความพร้อมและซักซ้อมระบบการส่งต่อผู้ป่วย
  5. เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับบุคลากร รวมทั้งประชาชนอย่างครอบคลุม และเป็นไปตามความสมัครใจ
  6. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ
  7. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อว่างแผนในการควบคุมป้องกัน การแพร่ระบาด
  8. รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

 

สธ.ส่งหนังสือด่วนที่สุด ส่งสัญญาณเตือน เตรียมพร้อมรับโควิดระลอกใหม่

 

คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อไทยเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามที่ ศบค. แถลงแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) นั้นเป็นความจริงหรือไม่ มากไปกว่านั้นเมื่อมีสัญญาณเตือนโควิดระลอกใหม่ ประชาชนต้องระวังอะไรบ้าง ???