รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
5 กรกฎาคม 2565
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 291,199 คน ตายเพิ่ม 586 คน รวมแล้วติดไป 554,921,330 คน เสียชีวิตรวม 6,362,084 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ไต้หวัน และญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 75.17% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 73.89%
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ปัญหาหนักที่เผชิญ
- ตัวเลขที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น
- กลไกสนับสนุนทางสังคมลดลงไปมาก
- สภาวะแวดล้อมทางสังคมที่เสี่ยงสูงมาก
- ทัศนคติในการบริหารนโยบายสุขภาพที่เน้นเศรษฐกิจมากกว่าสุขภาพ และลดทอนการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชน (Tone down risk perception)
- ระบบการควบคุมป้องกันโรคไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะจัดการการระบาดในปัจจุบันได้ ทั้งในระดับประเทศ พื้นที่ และสถานที่จำเพาะ ทั้งที่ทำงาน และสถานศึกษา
- การระบาดในครัวเรือนจากเด็กๆ ที่ติดเชื้อจากสถานศึกษา เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ป้องกันได้ยาก มีลักษณะแบบม้าไม้เมืองทรอย (Trojan horse)
- การยึดตัวชี้วัดสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เพราะกลไกนโยบายดูเฉพาะจำนวนคนป่วยในโรงพยาบาล และจำนวนเสียชีวิต โดยเป็นตัวชี้วัดที่มีเวลาเหลื่อมจากการติดเชื้อนาน (lag periods) ไม่ไวพอที่จะตรวจจับสถานการณ์ นอกจากนี้ปัญหาหนักระยะยาวคือ Long COVID (ลองโควิด) ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนการติดเชื้อที่เกิดขึ้น และไม่ได้รายงาน
- การมี Underestimation mindset โดยมีการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น กระจอก ธรรมดา เอาอยู่ เพียงพอ เวฟเล็กๆ ทั้งที่สถานการณ์จริงที่คนหน้างาน และประชาชนในสังคมเผชิญอยู่นั้นไม่เป็นเช่นนั้น
หนทางแก้ไขระดับมหภาค
- "บอกความจริง"แก่ประชาชนทุกคนในสังคม ไม่วิ่งหนีความจริง ไม่เปิดเฉพาะที่อยากเปิด ไม่เปิดแค่ยามที่อยากเปิด
- วัฒนธรรม "ใส่หน้ากาก"
- วิเคราะห์ช่องโหว่ของแผนการควบคุมป้องกันโรคในสถานที่จำเพาะ เช่น สถานศึกษา และที่ทำงาน และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ยืนบนพื้นฐานของความเป็นจริง และปรับระบบการดำเนินงานให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่จริง ไม่ทำแบบเตี้ยอุ้มค่อม เพื่อให้การดำเนินชีวิตวิถีใหม่เป็นไปได้ ไม่ใช่วิถีชีวิตแบบเดิมแต่สังเวยด้วยความเจ็บป่วยและความเสี่ยงต่อชีวิต
- ปรับเปลี่ยนกลไกบริหารจัดการนโยบายด้านสุขภาพ ตัวชี้วัด และสร้างระบบเฝ้าระวังที่เข้าถึงได้โดยสาธารณะอย่างละเอียด ทันเวลา
สำหรับประชาชน
การระบาดปัจจุบันหนัก
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือกินดื่มร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
ในครอบครัว หมั่นสังเกตสังกาอาการผิดปกติของเด็กๆ หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษา
ตะลอนนอกบ้าน ทำงาน ศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องใส่หน้ากากครับ จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก
ที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ไม่ใช่เวฟเล็กๆ