น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม ผ่านไป 6 เดือน มีประสิทธิผลป้องกันติดเชื้อเหลือเพียง 0-10%
- ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกและในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว( มากกว่า 90% ในไทย)
- เราจึงต้องใช้ข้อมูลคุณลักษณะของไวรัสโอมิครอน (Omicron) ตลอดจนสถิติต่างๆที่เกี่ยวข้อง มาใช้เป็นหลักในการวิเคราะห์ และวางมาตรการต่างๆ
- มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลของการฉีดวัคซีน ( VE : Vaccine Effectiveness) ต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หลายการศึกษา ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอิสราเอล สรุปได้ว่า
การฉีดวัคซีน แม้จะเป็นชนิด mRNA 2 เข็ม จะรับมือป้องกันการติดไวรัสโอมิครอนได้น้อยลงกว่าการรับมือกับสายพันธุ์เดลตาอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะในกรณีที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม นานกว่า 6 เดือน จะทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือเพียง 0-10% ลดการนอนโรงพยาบาลได้เพียง 30% และลดการเสียชีวิตได้เพียง 40%
- จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ที่ฉีดเข็ม 2 มานานกว่า 6 เดือนแล้วทุกคน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาเป็น 50-75% ลดการนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมาเป็น 80-95% และลดการเสียชีวิตได้ 85-99% (ในช่วง 3 เดือนแรก หลังฉีดวัคซีนเข็ม 3 )
- การฉีดวัคซีนดีกว่าการไม่ฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน โดยพบว่าจะนอนโรงพยาบาลหรือป่วยหนักน้อยกว่า 4-15 เท่าตัว
- ระยะเวลาที่เหมาะสำหรับการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 คือต้องเว้นห่างจากเข็ม 2 อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี และไม่ควรนานเกิน 6 เดือน เพราะภูมิคุ้มกันจากเข็ม 2 จะตกลงมาต่ำมาก
- สำหรับประเทศไทย จึงควรเร่งมาตรการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับผู้ที่ฉีดเข็ม 2 ไปแล้วทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ฉีดไปแล้วมากกว่า 3 เดือนและจำเป็นอย่างยิ่งในกลุ่มที่ฉีดแล้วเกิน 6 เดือน
- ควรฉีดเข็ม 3 ให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งจากการตรวจสอบตัวเลขสถิติวัคซีนขณะนี้ ประเทศไทยเราฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้วได้ 13.43 ล้านคนคิดเป็น 19.3% ของประชากร
ยังขาดอยู่อีกประมาณ 37 ล้านโดสโดยเข็มหนึ่งฉีดไปแล้ว 52.21 ล้านโดส เข็มสองฉีดไป 48.43 ล้านโดส
การฉีดเข็ม 3 ให้ได้จำนวนมากพอ(50ล้านโดส) เพื่อรองรับโอมิครอน จะทำให้สถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลไทยไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤต
เพราะขณะนี้มีผู้นอนอยู่ในโรงพยาบาลหลัก 41,660 ราย โรงพยาบาลสนาม 31,994 ราย แยกกักที่บ้าน 9394 ราย รวมทั้งสิ้น 83,698 ราย