โควิดอาการ Long Covid จากโอมิครอนจะพบน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา

19 ม.ค. 2565 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2565 | 17:31 น.
606

โควิดอาการ Long Covid จากโอมิครอนจะพบน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา หมอมนูญชี้ผู้ป่วยมีอาการเบา ไม่รุนแรง ระบุส่วนใหญ่เป็นที่ทางเดินหายใจส่วนบน ในลำคอและจมูกมากกว่าที่อื่น

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เพิ่งพบเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ติดง่ายมาก แพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศในเวลาไม่ถึง 3 เดือน  

 

 

มีคนวิตกกังวลว่าในอนาคตจะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากมีผลข้างเคียงระยะยาว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Long Covid  

 

 

คำจำกัดความของลองโควิด ส่วนใหญ่นับเวลาของอาการที่ยังตกค้างอยู่หลังการติดเชื้อมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป 

 

 

เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะมีลองโควิดมากน้อยแค่ไหน 
 

จากการดูคนไข้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์ก่อนหน้านั้นในระยะต้น บางคนไอ หอบเหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส ท้องเสีย ผื่นขึ้น ตาแดง 

 

 

เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาทำให้เกิดอาการรุนแรงเพราะสามารถกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ปอด หัวใจ หลอดเลือด สมอง ตับ ไต ลำไส้  ผิวหนัง 

 

 

30% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว พบว่ามีอาการลองโควิด เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว 

 

 

กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ มึนงง ไม่สดชื่น นอนไม่หลับ สมองล้า ความจำไม่ดี ความจำสั้น ไม่มีสมาธิ มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด ใจสั่น แน่นหน้าอก ท้องเสีย ท้องอืด ผมร่วง

 

 

Long Covid โอมิครอนจะพบน้อยกว่าเดลตา

 

 

โดยส่วนตัวผมคิดว่าลองโควิดจากสายพันธุ์โอมิครอน น่าจะพบน้อยกว่าเดลตาแน่นอน 

 

 

โดยดูจากผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีอาการเบาๆ รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตามาก 

ส่วนใหญ่เป็นที่ทางเดินหายใจส่วนบน ในลำคอและจมูกมากกว่าที่อื่น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส ท้องเสียพบน้อย 

 

 

ความรุนแรงลดลงใกล้เข้ากับเชื้อโคโรนาไวรัสดั้งเดิม 4 ชนิดที่ทำให้เด็กป่วยเป็นไข้หวัด เป็นโรคประจำถิ่นมากว่า 50 ปีแล้ว เป็นเองหายเอง แต่อาจมีอาการรุนแรงได้ในผู้สูงอายุ

 

 

คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เมื่อติดเชื้อโอมิครอน 

 

 

ขอให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก และคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เมื่อถึงเวลาฉีดเข็มกระตุ้น รีบไปฉีดให้เร็วที่สุด

 

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 19 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7,122 ราย  

 

 

ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 121,498 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,460 ราย กำลังรักษา 81,602 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 72,869 ราย