โอมิครอนในไทยแพร่เร็วกว่าเดลตา 2-3 เท่า หมอเฉลิมชัยเผยปัจจัยไทยติดน้อย

18 ม.ค. 2565 | 13:20 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 00:47 น.

โอมิครอนในไทยแพร่เร็วกว่าเดลตา 2-3 เท่า หมอเฉลิมชัยเผยปัจจัยไทยติดน้อยกว่าประมาณการณ์ ทั้งฉีดวัคซีนครอบคลุม ประชาชนมีวินัย และมาตรการคุมโรคจากภาครัฐ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

 

มีคำถามหนึ่งที่ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยอยากทราบว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่เก่งกว่าไวรัสเดลตากี่เท่า

 

 

จากข้อมูลเบื้องต้นในขณะนี้ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่ระบาดเร็วกว่าเดลตาแน่นอน แต่มากกว่ากี่เท่า จำเป็นที่จะต้องใช้วิชาการและสถิติต่างๆมาประมวลดู

 

 

ซึ่งผู้เขียนได้ลองรวบรวม และนำมาประมวลดังนี้

 

 

1.ไวรัสโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ โดยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหนามมากกว่าไวรัสเดลตาอยู่ 3.5 เท่า คือมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมในการสร้างหนาม 32 ตำแหน่ง ในขณะที่เดลต้ามีการเปลี่ยนแปลงเพียง 9 ตำแหน่ง
 

2.จำนวนประเทศต่างๆที่ตรวจพบมีไวรัสโอมิครอน โดยใช้เกณฑ์พบจำนวน 100 ประเทศแรก พบว่าใช้ระยะเวลาสั้นกว่าที่ไวรัสเดลต้าระบาดอยู่ 2-3 เท่า

 

 

3.สำหรับประเทศไทยเอง ในการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสในผู้ติดเชื้อ ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันมาโดยตลอด พบว่าโอมิครอนแพร่เก่งกว่าไวรัสเดลต้าอย่างน้อย 2-3 เท่า ดังนี้

 

 

3.1ศูนย์ความเป็นเลิศทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ตรวจพบว่า ไวรัสเดลต้าเริ่มมีในเดือนพฤษภาคม 2564 และสามารถแซงไวรัสอัลฟ่าซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านั้นได้ในเวลาประมาณ 2-3 เดือน คือชนะในเดือนกรกฎาคม 2564

 

 

ในขณะที่ไวรัสโอมิครอนเริ่มพบในเดือนธันวาคม 2564 และสามารถแซงเดลต้าได้สำเร็จในเวลาเพียงหนึ่งเดือน คือมกราคม 2565

 

 

โอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา 2-3 เท่า

 

 

ถือได้ว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่เก่งกว่าเดลตา 2-3 เท่าตัวชัดเจน

 

 

3.2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบตัวเลขว่า มีไวรัสโอมิครอนดังนี้

 

 

4-10 ธันวาคม 2564 

พบ 1.5%

27-28 ธันวาคม 2564 

พบ 66.5%

3-16 มกราคม 2565 

พบ 97.1%

 

 

นั่นหมายความว่าไวรัสโอมิครอนสามารถแซงเดลตาโดยใช้เวลา เพียงสามสัปดาห์

และข้อมูลสถิติของประเทศไทยในการแยกชนิดของไวรัสนั้น ในระยะหลังเราเน้นมาตรวจหาในผู้ติดเชื้อที่ติดกันเองภายในประเทศ ไม่ได้เน้นไปที่ต่างประเทศ จึงทำให้ข้อมูลของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

 

 

กล่าวโดยสรุป

 

 

  • โอมิครอนในประเทศไทย แพร่เก่งกว่าและเร็วกว่าเดลตา 2-3 เท่า
  • เนื่องจากในระลอกที่สาม ที่ไวรัสเดลตาเป็นหลักนั้น มีผู้ติดเชื้อรวมประมาณ 2 ล้านราย ถ้าสถานการณ์และปัจจัยต่างๆเหมือนเดิมทุกประการ จำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดของโอมิครอนก็น่าจะอยู่ประมาณ 4-6 ล้านราย

 

 

แต่เนื่องจากประเทศไทย ได้มีการปรับปัจจัยต่างๆไปหลายประการมาก ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่มากดังที่ประมาณการไว้ อันประกอบด้วย

 

 

โอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา 2-3 เท่า

 

 

  • อัตราการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมมาก (110 ล้านโดส)
  • อัตราการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ที่กำลังเพิ่มอย่างรวดเร็ว (10 ล้านโดส)
  • วินัยของประชาชนในการดูแลป้องกันตนเอง
  • มาตรการต่างๆของรัฐที่ออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาด

 

 

หวังว่าจำนวนผู้ติดโควิดจากไวรัสโอมิครอนจะไม่มากไปกว่าผู้ติดโควิดจากเดลตา

 

 

ส่วนจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตคงจะไม่มากกว่าในระลอกที่ 3 ค่อนข้างแน่