วิธียืนยันผลตรวจโควิดป้องกันผลบวกปลอมจาก ATK

04 พ.ย. 2564 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 17:17 น.

หมอมนูญเผยวิธียืนยันผลตรวจโควิด-19 ป้องกันผลบวกปลอมจาก ATK ชี้ไม่มีวิธีไหนให้ผลถูกต้อง 100% ด้านสถานการณ์ติดเชื้อโควิดรายวันลดลงต่อเนื่องเพิ่ม 7,982 ราย

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 
การตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 (covid-19) ทำได้ 2 วิธี 

วิธีแรกใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Antigen Test Kit หรือ ATK อ่านผลได้เร็วภายใน 15 นาที มีความไว และความจำเพาะที่ต่ำ หากตรวจได้ผลบวก ต้องยืนยันด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR 
SARS-CoV-2  RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐาน เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะสูง อย่างไรก็ดีแม้วิธีนี้จะมีความไวสูง อาจเกิดผลลบปลอมได้ และแม้จะมีความจำเพาะสูง ก็ยังอาจเกิดการปนเปื้อนที่เป็นสาเหตุของการเกิดผลบวกปลอมได้

การตรวจแบบ ATK

หมอมนูญ ระบุอีกว่า จะขอพูดถึงเรื่องผลบวกปลอมของวิธีตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR ความแม่นยำของวิธีตรวจรหัสพันธุกรรมขึ้นกับความไว คือตรวจคนติดเชื้อทุกคน ต้องให้ผลบวกทุกคน และความจำเพาะ ตรวจคนไม่ติดเชื้อทุกคน ต้องให้ผลลบทุกคน ต้องยอมรับว่าไม่มีการตรวจวิธีไหนให้ผล perfect ถูกต้อง 100 % ในชีวิตจริงการตรวจผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าความไวอย่างน้อย 95% และความจำเพาะอย่างน้อย 98% จะเห็นว่าผลการตรวจมีโอกาสที่จะให้ผลบวกปลอม 2% หรือมากกว่านั้น คือคนที่ไม่ติดเชื้อ ผลตรวจออกมาเป็นบวก
ผลเสียของการรายงานผลบวกปลอม ทำให้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกกักตัว อาจถูกรับเข้ารักษาในวอร์ดผู้ป่วยโควิด ได้รับยารักษาโรคโควิดโดยไม่จำเป็น สร้างความเครียด ความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัว ต้องสูญเสียรายได้ เสียทรัพยากรและเพิ่มงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยไม่จำเป็น เพิ่มสถิติของคนติดเชื้อและอื่นๆ

ห่วงตรวจโควิดเจอผลบวกปลอม
การป้องกันการรายงานผลบวกปลอม ต้องอาศัยทั้งห้องปฏิบัติการและแพทย์เจ้าของไข้  ถ้าคนไข้ไม่มีอาการของโรคโควิด คนในครอบครัวและที่ทำงานไม่มีใครติดเชื้อไวรัสโควิด สาเหตุที่ตรวจหารหัสพันธุกรรม ไม่ใช่เพราะสงสัยว่าติดเชื้อ แต่ตรวจเพื่อคัดกรอง เช่นก่อนจะเข้ารับการทำหัตถการในโรงพยาบาล และผลการตรวจ พบปริมาณเชื้อไวรัสน้อยมากโดยดูจากค่า cycle threshold ถ้าทุกอย่างเข้าข่ายนี้ แพทย์อย่าด่วนสรุปว่าติดเชื้อ ขอให้ตรวจหารหัสพันธุกรรมซ้ำใน 24 ชั่วโมง ถ้าผลออกมาลบ ขอให้ทำซ้ำอีก 1 ครั้ง ถ้าผลออกมาลบ 2 ครั้ง ยืนยันได้ว่าผลบวกครั้งแรกเป็นผลบวกปลอม
ผู้ป่วยอายุ 80 ปี เตรียมจะทำผ่าตัดตา เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ผลออกมาเป็นบวก ค่า cycle threshold 28.8 ค่าตัดว่าลบ cut off อยู่ที่ 31.5 เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการ ไม่มีใครในบ้านป่วย ตรวจรหัสพันธุกรรมทุกคนในบ้านให้ผลลบ แพทย์สงสัยอาจเป็นผลบวกปลอม จึงทำการตรวจรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยซ้ำอีก 2 ครั้งใน 24 ชั่วโมงต่อมา ผลออกมาเป็นลบ ยืนยันได้ว่าผลตรวจครั้งแรกเป็นบวกปลอม
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 4 พฤศจิกายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 7982 ราย
ติดในระบบ 7762 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 66 ราย
ติดในสถานกักตัว 10 ราย
ติดในเรือนจำ 144 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,914,561 ราย
สะสมทั้งหมด 1,943,424 ราย
หายป่วย 8029 ราย
สะสม 1,826,492 ราย
รักษาตัวอยู่ 97,470 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
โรงพยาบาลหลัก 42,371 ราย
โรงพยาบาลสนาม 44,793 ราย
แยกกักที่บ้าน 6800 ราย
อาการหนัก 2181 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 466 ราย
เสียชีวิต 68 ราย
สะสมระลอกที่สาม 19,368 ราย
สะสมทั้งหมด 19,462 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 3001 ราย
สะสม 282,033 ราย
วัคซีนสะสมกว่า 76,000,000 โดส