ย้อนรอยโควิดระลอกสามสู่การเปิดประเทศ หมอเฉลิมชัยแนะ 2 แนวทางคุมการระบาด

01 พ.ย. 2564 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2564 | 15:12 น.

หมอเฉลิมชัยย้อนรอยเส้นทางโควิดระลอกสามก่อนนำมาสู่การเปิดประเทศ คลายมาตรการ แบ่งโซนสีฟ้านำร่องพื้นที่ท่องเที่ยว ยกเลิกเคอร์ฟิวส์ แนะ 2 แนวทางลดการระบาด

เริ่มแล้ววันนี้ (1 พ.ย.64) กับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของไทย โดยจะให้นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว จากเดิมที่กำหนดไว้ 46 ประเทศ และเพื่อเป็นการตอบรับนโยบายดังกล่าวจึงได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆลงอีก ทั้งการยกเลิกเคอร์ฟิวส์เหลือเพียง 7 จังหวัดที่ยังถูกคุมเข้มอยู่ และการให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านอาหาร ในพื้นที่สีฟ้าที่เรียกว่าผ่อนคลายสูงสุด 

ล่าสุดน.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
1 พฤศจิกายน 2564 : 4 จังหวัดนำร่องสีฟ้าจะผ่อนคลายสูงสุด ยกเลิกเคอร์ฟิว และใช้ชีวิตตามปกติ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

1.ประเทศไทยมีโควิดระบาดระลอกที่ 3 มานาน 7 เดือนเต็มแล้ว
2.นช่วงระบาดขาขึ้น ใช้เวลา 4.5 เดือน นับตั้งแต่ 1 เมษายน ถึงกลางเดือนสิงหาคม
3.โดยใช้มาตรการเข้มข้นหลายมาตรการร่วมกัน จึงสามารถคุมการระบาดเอาไว้ได้
4.จากจุดสูงสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ประเมินสองสัปดาห์แล้ว เห็นว่าผ่านพ้นจุดสูงสุดจริง
5.จึงเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา
6.จากการเริ่มมาตรการผ่อนคลายตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาสองเดือนเต็ม
7.พบว่าอัตราการติดเชื้อลดลง 2.5 เท่า จากวันละ 23,418 ราย เหลือ 9953 ราย (ค่าเฉลี่ยในเดือนตุลาคม) และอัตราการเสียชีวิตลดลง 3.9 เท่า จาก 312 ราย เหลือ 80 ราย(ค่าเฉลี่ยในเดือนตุลาคม)
8.แม้อัตราการลดลงของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต จะช้ากว่าอัตราขาขึ้น แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจ และระบบการใช้ชีวิตในสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้
9.รัฐบาลจึงต้องประกาศมาตรการผ่อนคลายอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 
โดยแบ่งเป็นหลายเขตพื้นที่ ตามสีแดงเข้ม แดง เหลือง และเขียว

โควิดระลอกสามสู่การเปิดประเทศ
10.แต่ในมาตรการผ่อนคลายครั้งนี้ ได้มีการนำร่องที่สำคัญคือ จังหวัดสีฟ้า เป็น 4 จังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว
11.ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยจะได้รับสิทธิ์ในการเป็น Sandbox หรือนำร่อง
12.ประชาชนในจังหวัดดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตเกือบปกติทุกอย่างประกอบด้วย
12.1 ยกเลิกเคอร์ฟิว
12.2 มีกิจกรรมรวมกลุ่มได้ไม่จำกัดจำนวน
12.3 นั่งทานอาหารในร้านพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
12.4 โรงภาพยนตร์ สนามกีฬา ร้านนวด ร้านเสริมสวย สปา ตลาด ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ตามปกติ
12.5 สถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็กเล็กและสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เปิดดำเนินการได้ตามปกติ
12.6 นักท่องเที่ยวจาก 61 ประเทศและ 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ถ้าฉีดวัคซีนครบสองเข็ม
ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว จะมีปัจจัยที่ช่วยประคับประคองไว้ สองอย่างได้แก่
1.วินัยของประชาชนในจังหวัดนำร่อง ที่จะต้องเข้มข้นเหมือนเดิม
2.อัตราความครอบคลุมสำหรับการฉีดวัคซีน ถ้าฉีดวัคซีนเข็มสองครบอย่างน้อย 70% ของประชากร ก็จะเบาใจในเรื่อง ถ้าติดเชื้อก็จะไม่เจ็บป่วยหนักและไม่เสียชีวิต
เมื่อดูตัวเลขของ 4 จังหวัดนำร่องดังกล่าว จะพบว่าอัตราการติดเชื้อเป็นดังนี้
1.กรุงเทพฯ 399,412 ราย
35) ภูเก็ต 14,846 ราย
53) กระบี่ 7616 ราย
60) พังงา 4674 ราย
โดยที่อัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุม เป็นดังนี้
1) กรุงเทพฯ
เข็มหนึ่ง 107.9% 
เข็มสอง 75.9%
2) ภูเก็ต
เข็มหนึ่ง 83.3% 
เข็มสอง 77.1%
3) พังงา 
เข็มหนึ่ง 64.9% 
เข็มสอง 54.1%
4) กระบี่
เข็มหนึ่ง 61.5% 
เข็มสอง 35.1%
จะเห็นได้ว่า กรุงเทพฯและภูเก็ตมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มสองที่น่าจะเพียงพอคือ มากกว่า 70%
ในขณะที่พังงาและกระบี่ยังไม่ถึง 70% จะต้องเร่งมือกันต่อไป
และในระหว่างที่ยังไม่ถึง 70%  จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง
ขณะนี้ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยฉีดเข็มหนึ่งได้แล้ว 57.63% เข็มสอง 41.47%
คาดว่าจะฉีดเข็มสองได้ครบ 70% ในเดือนธันวาคม 2564
การนำร่องสี่จังหวัดท่องเที่ยวหรือสีฟ้า จะเป็นบททดสอบสำคัญว่า ไทยจะสามารถเปิดประเทศครบทุกจังหวัดในต้นปีหน้าได้หรือไม่
ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งเรื่องวินัยในการดูแลป้องกันโรค เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานเข้มแข็ง และการฉีดวัคซีนครอบคลุมเข็มสอง 70%
โอกาสที่เราจะเดินหน้าเปิดประเทศในต้นปีหน้าก็จะมีสูงขึ้น
แต่ถ้านำร่องไปได้ 2-4 สัปดาห์ แล้วพบอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็คงต้องมาทบทวนมาตรการผ่อนคลาย อาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นกันใหม่อีกครั้งก็เป็นได้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 1 พฤศจิกายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น  8,165 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,891,326 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 55 ราย หายป่วยเพิ่ม ,574 ราย กำลังรักษา 99,227 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,774,276 ราย