เปิดประเทศ 1 พ.ย. หมออนุตตรห่วงนักท่องเที่ยวรับเชื้อในประเทศไปแพร่ต่อ

31 ต.ค. 2564 | 16:13 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2564 | 22:55 น.

หมออนุตตรชี้เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนักท่องเที่ยวจะรับเชื้อโควิด-19 จากในประเทศไปแพร่ต่อ แนะทำตามมาตรการอย่างเข้มงวด ระบุผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าหมื่นมาเกือบ 2 สัปดาห์

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า 
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าหมื่นมาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่รวม ATK ผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ทั้งหมดลดลงจากสูงสุด 2 แสนกว่าคน เหลือต่ำกว่าแสนอยู่ 4 วัน ตอนนี้ขึ้นมาเกินแสนเล็กน้อย โดยผู้ป่วยนอก รพ.ลดลง แต่ผู้ป่วยใน รพ.เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยอาการหนักลดลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกันผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงเหลือ 500 คน จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดกว่า 1200 คน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน  การที่ความรุนแรงของโรคและอัตราเสียชีวิต ที่ลดลงถึงแม้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังทรง ๆ น่าจะเป็นผลจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 กันมากขึ้น

อันนี้เป็นภาพรวมทั้งประเทศ แต่สถานการณ์การระบาดและการรักษาใน รพ. ยังหนักหนาสาหัสอยู่ในหลายจังหวัด อย่างเช่นทางภาคใต้ และจังหวัดเชียงใหม่ สภาพปัจจุบันในพื้นที่ระบาดหนักน่าจะใกล้เคียงกับ กทม.และปริมณฑลในช่วงที่เคสสูงสุดตอนช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมเลย

แนวโน้มผู้ป่วยโควิดที่กำลังรักษาตัวอยู่

ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์ของระบบรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 (covid-19) ส่วนใหญ่จะคลี่คลายลง โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล แต่ก็ไม่ใช่ว่าบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่การระบาดลดลงจะสบายขึ้นมากนะครับ เรามีผู้ป่วยโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โควิด-19 กลับมารับการรักษาเพิ่มขึ้นหลังจากอัดอั้นอยู่ในช่วงการระบาดหนัก ผู้ป่วยผ่าตัด ทำหัดถการ วินิจฉัยและรักษาโรคเริ่มกลับมา คงต้องระวังไม่ให้มีการระบาดหนักขึ้นอีก เพราะเราอาจไม่สามารถปรับการรักษาพยาบาลให้กลับมาเหมือนตอนที่เราเคยมีผู้ป่วยโควิด-19 ใน รพ. รวมผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจที่เคยสูงสุดกว่า 2 เท่าของภาระในปัจจุบันได้อีก
เราจะเปิดประเทศในวันพร่งนี้ 1 พฤศจิกายน 2564 ด้วยมาตรการรับนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน แต่ยังต้องดูว่ามาตรการที่บอกไว้จะนำสู่การปฏิบัติได้ดีมากน้อยแค่ไหน เช่น นักท่องเที่ยวที่มาต้องรับวัคซีนครบถ้วน จะมีการตรวจสอบได้อย่างไรว่าเป็นจริง ผลการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทางจะตรวจสอบว่าเป็นผลจริงได้อย่างไร การตรวจ RT-PCR ตอนเข้าประเทศจะทำให้อย่างไรให้รวดเร็ว ไม่มีการเล็ดลอด แล้วผลต้องออกภายใน 24 ชม. ถ้าผลบวกเราจะสามารถกักกันได้ทันการหรือไม่ สิ่งเหล่านี้หวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะได้มีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งตามมาตรการที่วางไว้

ผู้ป่วยอาการหนัก-ใส่เครื่องช่วยหายใจ
หมออนุตตร ระบุต่อไปว่า โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าสามารถปฏิบัติตามมาตรการที่กล่าวมาได้ โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาจะมีโอกาสน้อย แต่ที่น่ากังวลคือนักท่องเที่ยวจะมารับเชื้อภายในประเทศ แล้วไปแพร่เชื้อต่อให้กับนักท่องเที่ยวหรือคนไทยมากกว่า เพราะมาตรการการป้องกันโรคของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน หลาย ๆ ประเทศตอนนี้ก็ไม่ได้เคร่งครัดมาตรการเท่าไหร่ เมื่อเข้ามาในประเทศไทยเราจะบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ได้อย่างไร  ขนาดคนไทยกันเองเรายังบังคับกันไม่ค่อยได้ 
คงต้องช่วยกันทุกภาคส่วน 
ภาครัฐต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้อย่างเข้มงวด ไม่ละเว้นการปฏิบัติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวหรืออิทธิพลใด และต้องมีการประเมินสถานการณ์การระบาดหลังการเปิดประเทศหรือเปิดกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่เพียงให้ความสำคัญกับตัวเลขการระบาด แต่ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ของระบบรักษาพยาบาลในแต่ละพื้นที่ ว่าเพียงพอในการรับภาระการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และปรับมาตรการต่าง ๆ ให้ทันกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่  รวมทั้งเร่งกระจายวัคซีนให้เพียงพอกันทั้งประเทศ
ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง COVID-free setting เช่นเรื่องการระบายอากาศที่ดี การเว้นระยะห่าง การให้พนักงานฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน และตรวจ ATK เป็นระยะ โดยต้องเคร่งครัดมาตรการการป้องกันโรคโดยไม่ละเว้น ทั้งกับลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ 
ภาคประชาชนต้องช่วยกันคงมาตรการ DMHTT และ Universal prevention ด้วยการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงที่แออัด และรับวัคซีนเมื่อมีโอกาสโดยไม่ลังเล  รวมทั้งต้องเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ หากพบมีการละเมิดมาตรการป้องกันโรค คงต้องไม่นิ่งเฉย แจ้งให้ จนท.ทราบ
ส่วนพวกเราบุคลากรทางการแพทย์ก็คงทำได้แต่ทำงานของเราให้ดีที่สุด และหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะไม่กลับมาเลวร้ายเหมือนที่ผ่านมา พวกเราคงไม่อาจเรียกร้องให้ปิดประเทศต่อไปอีก เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมก็รุนแรงเช่นกัน และแนวโน้มทั่วโลกในการเปิดเศรษฐกิจก็เป็นแบบเดียวกัน แต่อย่างไรพวกเราก็ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 31 ตุลาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 8859 ราย
ติดในเรือนจำ 330 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,883,161 ราย
สะสมทั้งหมด 1,912,024 ราย
หายป่วย 8253 ราย
สะสม 1,792,128 ราย
รักษาตัวอยู่ 100,691 ราย
เสียชีวิต 47 ราย
สะสมระลอกที่สาม 19,111 ราย
สะสมทั้งหมด 19,205 ราย