วัคซีนโควิดวิดเข็ม 3 ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าใต้ผิวหนัง ภูมิคุ้มกันสูงแค่ไหน ?

19 ก.ย. 2564 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2564 | 16:11 น.
2.9 k

จังหวัดภูเก็ตจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิดวิดเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าใต้ผิวหนัง หลายคนคงสงสัยว่าเเล้วการสร้างภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงได้แค่ไหน ?

ตามที่ ศบค. บอกว่า การฉีดกระตุ้นวัคซีนโควิดเข็ม 3 ของจังหวัดภูเก็ต ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มเกิน 70%  มีการศึกษาทดลองให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3

โดยฉีดเข้าผิวหนัง พบว่าภูมิคุ้มกันให้ผลไม่ต่างจากฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จึงเสนอให้ที่ประชุม สธ.รับรอง และมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า จะเริ่มวัคซีนเข็มที่ 3 เข้าผิวหนัง​ ที่ จ.ภูเก็ต

1​ โดสฉีดได้ 5 คน ซึ่งจะเริ่มฉีด 24 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยได้มีการศึกษาทดลองปรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มสามเป็นการฉีดเข้าทางผิวหนังเทียบกับกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

 

การทดสอบภูมิหลังสองสัปดาห์พบว่าทั้งสองแบบไม่มีความแตกต่างกัน ภูเก็ตจึงเสนอให้ที่ประชุมสาธารณสุขรับรอง และมีข้อสรุปว่าฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังได้ โดยเริ่มที่ภูเก็ตก่อน

วัคซีนโควิดวิดเข็ม 3 ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าใต้ผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มกันได้เเค่ไหน ?

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยในการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม3

เปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนัง กับการได้รับวัคซีนปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อ ในกลุ่มประชากรทั่วไป จำนวน 95 คน หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ผลวิจัยเบื้องต้นดังนี้

 

1.การฉีดวัคซีนแอสต้าเซนเนก้าเป็นเข็ม3 ด้วยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแอนติบอดี้ (B cells) และทีเซลล์ (T cells) ได้สูง เท่ากับการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ

2.ผู้ที่ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 128.7 BAU/mL และเมื่อรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1652 BAU/mL

3.ในกลุ่มอาสาสมัครที่รับวัคซีนโควิดเข็ม 3 แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันระบบแอนติบอดี้ได้ถึง 1300 BAU/mL ซึ่งใช้วัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ (ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ)

4.แอนติบอดี้จะช่วยในการป้องกันไวรัสเข้าเซลล์ร่างกาย แต่ถ้าไวรัสเข้าไปแล้วต้องใช้ทีเซลล์ ในการจัดการ จึงจำเป็นต้องศึกษาภูมิคุ้มกันทั้ง 2 แบบ

5.อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรนาไวรัส (S1 peptide pool) หลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมมา (IFN-γ) เพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งการได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข้าใต้ผิวหนังแบบลดโดส (ปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ) ของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมาแล้ว 4-8 สัปดาห์ หรือกลุ่มที่ได้รับมาแล้ว 8-12 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันทั้งการสร้างแอนติบอดี้และทีเซลล์ (T cells) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

6.อาสาสมัครทั้ง 95 คนในโครงการวิจัยไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงทั้งหมด ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนังมีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น อาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยน้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่มีผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น อาการบวม แดง ร้อน และคัน มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวหายเองได้ทั้งหมด

ยอดการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยรวมสะสม 43,342,103 โดส แบ่งเป็นวัคซีนเข็มแรก 28,436,015 ราย เพิ่มขึ้น 350,813 ราย เข็มที่สองจำนวน 14,285,995 ราย เพิ่มขึ้น 512,811 ราย และเข็มที่สามจำนวน 620,093 ราย เพิ่มขึ้น 965 ราย

ขณะที่การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากรเกิน 50% ในจังหวัดทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทราชลบุรี ภูเก็ต และพังงา ส่วนจังหวัดที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 70% ในจังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ภูเก็ตืระนอง พังงา

โดยนโยบาย ศบค. ในเดือน ต.ค. มอบให้ทุกจังหวัดฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากร 50% รวมถึงหากฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคเสี่ยง ครอบคลุม 70% แล้ว