กรมการแพทย์ เตือนหญิงตั้งครรภ์ ติดโควิด เสี่ยงทรุดหนัก ย้ำต้องฉีดวัคซีน

26 ก.ค. 2564 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2564 | 21:08 น.
555

กรมการแพทย์ เตือนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จะถูกจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ควรฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน พร้อมแนะให้รักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัด ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเพื่อลดความจำเป็นในการเข้าโรงพยาบาล ที่จะนำไปสู่การเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้

พญ.อรดา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นที่จะต้องระวังเป็นพิเศษกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงของโรค กล่าวคือมีโอกาสเกิดภาวะปอดอักเสบสูง นอกจากนี้ ความท้าทายของแพทย์ในการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 คือ ต้องรักษาทั้งแม่และทารกในครรภ์ไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 คือเมื่อมีปอดอักเสบแล้ว สิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาคือทารกในครรภ์จะได้รับออกซิเจนจากแม่ไม่เพียงพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดสูงถึง 20% 

พญ.อรดา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา

ในขณะที่ข้อจำกัดการรักษาสำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่นข้อจำกัดในการใช้ยารักษาบางชนิด รวมทั้งไม่สามารถนอนคว่ำเพื่อให้ร่างกายรับออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ จึงเพิ่มโอกาสในการใส่เครื่องช่วยหายใจ หากผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น จะต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนในรูปแบบสายเสียบจมูก แต่หากร่างกายผู้ป่วยยังรับออกซิเจนได้ไม่เพียงพอจะต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องให้ออกซิเจนแบบ High Flow และกรณีสุดท้ายหากเครื่องให้ออกซิเจนในสองแบบแรกไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ จะต้องเพิ่มระดับการให้ออกซิเจนสูงสุดด้วยเครื่องช่วยหายใจ

ข้อมูลล่าสุดจากกรมอนามัย นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 17 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศสูงถึง 856 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นคนไทย 550 ราย นอกจากนั้นเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 15 ราย เนื่องจากอาการของโรคในหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น เมื่อหญิงตั้งครรภ์ได้รับการตรวจและยืนยันว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติคือการปรึกษาแพทย์ และเข้าถึงระบบการรักษาให้เร็วที่สุด และด้วยอัตราการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ดังที่กล่าวมา ภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับหญิงตั้งครรภ์ในฐานะที่เป็นกลุ่มจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เทียบเท่ากับผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน โดยหญิงตั้งครรภ์จะถูกบรรจุไว้เป็นกลุ่มที่ 8 ซึ่งองค์การอนามัยโลก และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ต่างก็มีข้อมูลสนับสนุนว่าหญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ต้องมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะสามารถรับวัคซีนได้ ในขณะที่คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมบุตรก็สามารถรับวัคซีนได้เช่นเดียวกัน
 

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีข้อห้าม หรือคำแนะนำให้ชะลอแผนการตั้งครรภ์ หากมีแผนการตั้งครรภ์หรือตรวจพบว่าตั้งครรภ์แล้ว คนไข้ต้องรักษาสุขภาพอย่างระมัดระวังมากกว่าการตั้งครรภ์ในสถานการณ์ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการระหว่างการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และนอกจากการป้องกันตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังต้องระวังเรื่องการเกิดอุบัติเหตุเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล เท่ากับว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานที่ซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและมีความแออัด

นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว การดูแลสุขภาพจิตใจในหญิงตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ การเปิดรับข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุข หรือด้านสุขภาพผ่านการส่งต่อจากแหล่งข้อมูลที่ไม่สามารถเชื้อถือได้ก็อาจส่งผลต่อความเครียด ความวิตกกังวล จึงควรเปิดรับเฉพาะข้อมูลจากแหล่งที่เชื้อถือได้จริงและมีผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น การรับข้อมูลจากแพทย์ หรือโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดให้บริการข้อมูลข่าวสารทาง LINE Official Account : @thaibf โดยจะมีแพทย์และพยาบาลอาสาปฏิบัติหน้าที่เป็นแอดมินในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และหลังคลอดอย่างแท้จริง