เปิดกำไร 10แบงก์ปี67 เพิ่มขึ้น7.4% กว่า2.4แสนล้านบาท

22 ม.ค. 2568 | 11:24 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2568 | 13:27 น.

กลุ่มD-SIB 6แห่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแข็งแกร่ง! ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งทำกำไรปี67 กว่า 2.49แสนล้านบาท หลังตั้งสำรอง 2.3แสนล้านบาท รับโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า

ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 10 แห่งรายงาน ผลประกอบการไตรมาส4และประจำปี2567ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่า 10ธนาคารจดทะเบียนฯมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17,266ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น7.4%เป็น 2.49แสนล้านบาทจาก 2.31แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  

สำหรับ6ธนาคารพาณิชย์ ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(D-SIBs)ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรได้อย่างเหนียวแน่น เห็นได้จาก ธนาคารกรุงเทพ(BBL)กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 8.6% ธนาคารกรุงไทย( KTB) กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นเพิ่ม19.8%ธนาคารกสิกรไทย( KBANK)กำไรสุทธิเพิ่ม14.60%กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น14.9% ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นเพิ่ม1.0%และ0.5%ตามลำดับ

ธนาคารทหารไทยธนชาตหรือTTB กำไรสุทธิเพิ่ม12.9%กำไรต่อหุ้นเพิ่ม15.7% ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา( BAY)กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นปรับลดลง 9.8%เหตุสำรองECLเพิ่มขึ้น28.5%เป็นจำนวน45,782ล้านบาทจาก35,617ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน

เปิดกำไร 10แบงก์ปี67 เพิ่มขึ้น7.4% กว่า2.4แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือECLในปี2567มีจำนวน 2.3แสนล้านบาทลดลง 4,985.68ล้านบาทหรือลดลง 2.1%จาก2.35แสนล้านช่วงเดียวกันปีก่อน  ส่วนใหญ่สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL) ลดลง โดยมี 3 ค่ายที่สำรองECLเพิ่มขึ้น ได้แก่ "TISCO   BAY  BBL"

NPLเพิ่ม1.3%เป็น 5.1แสนล้านบาท

ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)5.19แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น7,084.81ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.3%จาก 5.11แสนล้านบาทเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนโดย4ธนาคารเอ็นพีแอลขยับเพิ่มคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา( BAY) 19.8% บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป(LHFG)  7.4% ทิสโก้ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป(TISCO)  2.2%และบมจ.เอสซีบีเอกซ์ (SCB) 0.8%

อย่างไรก็ดี โดยรวม ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) เห็นได้จาก ธนาคารกรุงเทพ อยู่ที่ 3.06% เพิ่มขึ้น0.04%จาก 3.02%ช่วงเดียวกันปีก่อนธนาคารกรุงไทย 3.29%เพิ่มขึ้น0.07 จาก 3.22%  ธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่  3.64% เพิ่มขึ้น0.5%จาก 3.26%   ธนาคารไทยพาณิชย์  3.85%เพิ่มขึ้น0.12%จาก 3.73%  ธนาคารทีทีบี อยู่ที่ 3.26%เพิ่มขึ้น 0.6%จาก 3.24%  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่ 4.28%เพิ่มขึ้น9.5%จาก 3.91% 

ส่วน 4ธนาคารที่NIMย่อตัวได้แก่ธนาคารทิสโก้(TISCO) 4.85%ลดลง 2.0%จาก4.95%ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) อยู่ที่ 4.8% จาก 5.2%  ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) อยู่ที่ 2.2% จาก 2.6% และLHFG232%จาก 2.53%

มองไปข้างหน้าธนาคารส่วนใหญ่ต่างประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี2568 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญความท้าทายจากหลายด้านโดยเฉพาะความไม่แน่นอน จากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการแข่งขันจากคู่แข่ง. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาการผลิตและภาระหนี้เอกชนและครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องใช้เวลาแก้ไข

SCBXตั้งเป้าปี68สินเชื่อโต1-3%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบีเอ็กซ์ จำกัด(มหาชน) ระบุว่า  ในปี 2568 SCBX จะเน้นสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบันโดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มสินเชื่ออุปกรณ์สินเชื่อผู้บริโภค มุ่งไปที่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการติดตามจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และบริษัทจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางภายใต้มาตรการของภาครัฐอย่างเต็มกำลัง

SCBX ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะเตรียมความพร้อมร่วมกับ พันธมิตรทางธุรกิจเพื่อตั้ง Virtual Bank และมุ่งสู่เป้าหมายใน Net Zeroตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตธุรกิจด้าน climate นอกจากนี้บริษัทเดินหน้า สู่เป้าหมายการเป็น AI- First Organization โดยการใช้ AI ในทุกมิติของการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ SCBX ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 1-3 % สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตในอัตรา 2.4% ในปี 2568 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 3.6- ถ) 3.8% บนพื้นฐานของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% 1 ครั้ง  ในปี 2568

ปัจจัยสำคัญสำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิขึ้นอยู่กับการเติบโตของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ในเจน 2 และขนาดของการปรับโครงสร้างหนี้ที่บริษัทจำเป็นต้องเข้าดำเนินการ การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิคาดว่าจะอยู่ในอัตรา 2-4% ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันรวมถึงค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นจากธุรกิจ Gen 2 และ Gen 3

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้มีเป้าหมายอยู่ในช่วง 42 - 44% โดยมุ่งเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเชิงกลยุทธ์ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านระบบคราว(Cloud COEs)และค่าใช้จ่ายทางด้านไอทีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อัตราผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่ออยู่ระหว่าง 1.5 - 1.7 % โดยคำนึงถึงมาตรการเชิงรุก กรอบการบริหารความเสี่ยง ที่แข็งแกร่งและแนวทางปฏิบัติในการจัดการต้นทุนด้านเครดิตที่มีประสิทธิผล และกลยุทธ์การติดตามหนี้ที่แข็งแกร่งเป้าหมายดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในอนาคต