ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้9 ม.ค “อ่อนค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์

09 ม.ค. 2568 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2568 | 08:53 น.

ค่าเงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว Sidewaysในช่วงระหว่างวันนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้างทั้งตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ และหากราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้9 มกราคม 2568 ที่ระดับ  34.65 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว Sideways โดยมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.70 บาทต่อดอลลาร์ และ

โซนแนวรับแรกในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงระหว่างวันนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบของผู้เล่นในตลาด หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงหนัก ในช่วงคืนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดอาจส่งผลให้ บรรดานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้บ้าง

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำด้วยเช่นกัน เพราะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท แต่หากราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็จะยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินหยวนจีน (CNY) ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน เนื่องจากในช่วงนี้ ความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินหยวนจีนและ

ตลาดการเงินจีน ทำให้หากเงินหยวนจีนจะชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนได้หรือไม่

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น

ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.60-34.73 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดนั้น

เงินบาทได้อ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 109 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก

โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจใช้กฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Emergency Powers Act หรือ IEEPA) ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ตามแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ก็ยิ่งเร่งแรงขายสินทรัพย์อังกฤษ ทั้งหุ้นและบอนด์เพิ่มเติม

 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ยังคงออกมาดีกว่าคาด

ทว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP กลับปรับตัวลดลง แย่กว่าคาดพอสมควร อีกทั้ง เจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller (FOMC Voter) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ตามการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่ล่าสุดมีข่าวว่า ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้กฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Emergency Powers Act หรือ IEEPA) ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.19% กดดันโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วยุโรป ที่ส่งผลให้บรรดาหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ก็มีส่วนกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรปด้วยเช่นกัน ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นบริษัทยายักษใหญ่ Novo Nordisk +2.8% หลังนักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำลงทุนเป็น “ซื้อ”

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.70% ตามความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ที่อาจทำให้เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน  Dot Plot

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่คงมองว่า เฟดยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน และบรรยากาศระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ก็ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.68%-4.69%

เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ หากบอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นบ้าง เนื่องจากผลตอบแทนรวม (Total Return) ของการถือบอนด์ระยะยาวนั้น ยังมีความน่าสนใจอยู่ ตราบใดที่เฟดไม่ได้กลับมาขึ้นดอกเบี้ย และคาดการณ์ของเราที่มองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ นั้นถูกต้อง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงหนักของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0

ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งมองว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่โซน 109 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.8-109.4 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากทางฝั่งจีน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ ในฝั่งยุโรป รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน ก็จะอยู่ในความสนใจของผู้เล่นในตลาดด้วยเช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน และคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 4 ครั้ง หรือ มากกว่า 100bps ในปีนี้   

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 10 มกราคม เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วง 20.30 น. ของวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.61-34.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.50 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ทั้งนี้ เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในระหว่างวันสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และเงินหยวนซึ่งอาจเผชิญแรงขายต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่อาจตึงเครียดมากขึ้นในประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

โดยเฉพาะภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากบันทึกประชุมเฟดซึ่งสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นตรงกันในเรื่องแนวโน้มการชะลอการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อทิศทางเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นจากแนวนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.50-34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณฟันด์โฟลว์ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. ของจีน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด