ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่ 13ธ.ค.ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์

13 ธ.ค. 2567 | 19:11 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2567 | 19:20 น.

ค่าเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับเงินหยวน  เงินเยน และการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก  กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 16-20ธ.ค. ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่ 13ธ.ค.ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาททยอยอ่อนค่าผ่านแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาในวันนี้สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินหยวน (จากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านการค้ากับสหรัฐฯ) เงินเยน (จากการคาดการณ์ของตลาดว่า BOJ อาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า) และการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก

ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในวันนี้ ขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 484 ล้านบาท และ 2,596 ล้านบาท ตามลำดับ ในฝั่งของเงินดอลลาร์ฯ น่าจะมีแรงหนุนจากแรงซื้อเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนการประชุม FOMC ในสัปดาห์หน้าด้วยเช่นกัน 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 13 ธันวาคม 2567 จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -23.20 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -19.59 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 16-20ธ.ค. ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (18 ธ.ค.) ผลการประชุม FOMC (17-18 ธ.ค.) ผลการประชุม BOJ (18-19 ธ.ค.) ผลการประชุม BOE (19 ธ.ค.) การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน

รวมถึงสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการ (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ อังกฤษและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน