วางแผนเทรดอย่างมีชั้นเชิงด้วย Multiple Timeframe

30 พ.ย. 2567 | 10:28 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2567 | 10:28 น.

วางแผนเทรดอย่างมีชั้นเชิงด้วย Multiple Timeframe คอลัมน์: Investing Tactic โดย ศศิวรรณ พงศ์พลาญชัย (โค้ชโบลิ่ง) วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

การเลือกใช้ Timeframe เป็นองค์ประกอบสำคัญในการวิเคราะห์และวางแผนเทรดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเทรดระยะสั้นหรือระยะยาว Timeframe ที่นิยมใช้ ได้แก่ ภาพรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน และรายนาที 

การเลือก Timeframe ที่เหมาะสม

หากนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนระยะสั้น อาจเลือกวิเคราะห์จาก Timeframe รายวันหรือรายนาที เพื่อหาจังหวะเข้าซื้อที่รวดเร็ว ในทางกลับกัน หากนักลงทุนเน้นผลตอบแทนระยะยาว การวิเคราะห์จาก Timeframe รายเดือนและรายสัปดาห์ จะช่วยให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นในการวางแผนระยะยาว

 

การเรียนรู้จากประสบการณ์

ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์ Multiple Timeframe จาก ครูไก่ กนิษฐา รอดดำ ซึ่งย้ำเสมอว่า การวิเคราะห์กราฟต้องเริ่มจาก Timeframe ใหญ่ (รายเดือนหรือรายสัปดาห์) แล้วค่อยลงไปดู Timeframe เล็ก (รายวันหรือรายนาที)

การเริ่มต้นจากภาพใหญ่จะช่วยให้เราเข้าใจแนวโน้มหลักของหุ้นตัวนั้นได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Up Trend, Sideway หรือ Down Trend ซึ่งสำคัญต่อการวางกลยุทธ์และการตัดสินใจใน Timeframe เล็กกว่า 

วางแผนเทรดอย่างมีชั้นเชิงด้วย Multiple Timeframe

การวางแผนเทรดโดยใช้ Multiple Timeframe

การดู Timeframe ใหญ่ เปรียบเสมือนการมีแผนที่นำทางในการเทรด เราจะเห็นภาพรวมของหุ้นว่ากำลังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น Sideway หรือขาลง จากนั้นจึงวางกลยุทธ์การซื้อขายใน Timeframe เล็ก เช่น รายวันหรือรายนาที ซึ่งจะช่วยในการหาจุดซื้อ จุดขาย และจุด Stop Loss ได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเลือกกลยุทธ์ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงทุนและความต้องการผลตอบแทนของนักลงทุนเอง

มุมมองในการเลือก Buy หรือ Sell

ในกรณีที่ Timeframe ใหญ่ เช่น รายเดือนหรือรายสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่าราคาหุ้นอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นและระยะยาว (EMA 5 และ 200) ก็แสดงว่าหุ้นตัวนั้นมีแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่ง เราสามารถหาจังหวะเข้าซื้อใน Timeframe เล็กกว่า เช่น รายวันหรือรายนาที เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรตามระบบเทรด

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ Multiple Timeframe มักใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อให้เกิดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ Indicator หรือการวิเคราะห์แนวโน้มทางเทคนิคอื่น ๆ เพื่อยืนยันการตัดสินใจ