เวิลด์แบงก์หั่น GDP ไทย 2.4% สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ ครึ่งปีหลังยังมีอัพไซด์

09 ก.ค. 2567 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2567 | 17:45 น.

เวิลด์แบงก์ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย เหลือโต 2.4% อยู่ในทิศทางเดียวกันกับคาดการณ์ของสภาพัฒน์ฯและคลัง ที่เฉลี่ย 2.4-2.6% ในขณะที่ดาวน์ไซด์มีกรอบจำกัด และมองอัพไซด์ครึ่งปีหลังยังมีลุ้นอีกมาก ทั้งมากตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบ ดิจิทัลวอลเล็ต

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย เหลือโต 2.4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยอยู่ที่ 2.5% มองว่าตัวเลข GDP ปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 2.4% ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ซึ่งส่วนตัวก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าตัวเลข GDP ไทยในปี 2567 อาจอยู่ที่ระดับเติบโต 2.4-2.5% แม้ในไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมาทำได้ระดับต่ำเพียง 1.5%

แต่เชื่อว่าหลังจากที่ภาครัฐได้เดินหน้าเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในมุมต่างๆ ได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 แล้ว อัตราค่าเฉลี่ยตัวเลข GDP ในไตรมาส 3-4/2567 จะทำได้อยู่ที่ระดับ 2.8% ส่วนในไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2% ตอนกลาง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ธนาคารโลกปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเพื่อให้สะท้อนถึงสภาะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน และคงเป็นเพียงปีเดียวเท่านั้น จะไม่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงปี 2568

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธนาคารโลกมีการปรับลดประมาณการตัวเลข GDP ไทยลงเหลือ 2.4% นั้น มองว่าไม่น่าแปลกใจนัก แม้จะลดลงแต่ก็ไม่มี Downside อะไรมากดดันให้ลดลงไปกว่านี้อีกแล้วในช่วงครึ่งหลังปี 2567 นี้

โดยก่อนหน้านี้ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) หรือแม้แต่ กระทรวงการคลัง และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการปรับลดอัตราการเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้ลง เหลือที่ระดับเฉลี่ย 2.4-2.6% ซึ่งเป็นการปรับมุมมองที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับศูนย์วิจัยของธนาคารในไทยที่ค่อยๆ ทยอยปรับลงมา

โดย GDP ในระดับ 2.4% ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ยังไม่รวมถึง Upside ที่จะมีเข้ามาเพิ่มเติม เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ของภาครัฐ การลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น เพราะยังมีความไม่แน่นอน แต่หากว่าเกิดขึ้นจริงก็เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยหนุนให้ตัวเลย GDP มีการขยายตัวที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ได้ชัดขึ้น 

ในขณะที่ปี 2568 มองว่าทิศทางตัวเลข GDP ของไทยมีโอกาสที่จะปรัตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รับแรงหนุนจากวัฏจักรดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ทำให้มีความยื้ดหยุ่นทางการเงินที่มากขึ้น และยังมี Upside ที่จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดีขึ้นด้วย ในขณะที่ปี 2567 ที่เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ทำให้เศรษฐกิจต้องเผชิญกับความยากลำบาก