ผู้ว่าฯ ธปท. จี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เตือนอย่ากระตุ้นแค่ระยะสั้น

04 ก.ค. 2567 | 19:47 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2567 | 20:10 น.
920

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ ธปท. ดับฝันเศรษฐกิจไทยโต 5% วิเคราะห์ศักยภาพที่แท้จริงพบโตต่ำ ชี้ทางออกแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เตือนอย่ากระตุ้นแค่ระยะสั้น

วันนี้ (4 กรฎาคม 2567) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นแต่ซ่อนความลำบากและความทุกข์ของประชาชนไม่น้อย เพราะยังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากรายได้ที่ไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคเกษตร และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลการฟื้นตัวของรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในปัจจุบันพบว่า รายได้แรงงานยังปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเมื่อเทียบระดับรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรเมื่อช่วงก่อนเกิดโควิด เดิมดัชนีอยู่ที่ 100 แต่เมื่อไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาเป็น 108.9 เช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอิสระเดิมดัชนีอยู่ที่ 100 แต่ไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาเล็กน้อยแค่เป็น 107.2 เท่านั้น สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

"ถ้าดูตัวเลขผ่าน ๆ จะเห็นว่า รายได้ของคนสองกลุ่มเพิ่มขึ้นมากว่าที่เคยเป็นอยู่ แต่ตัวเลขที่เห็นมันซ่อนความลำบาก และความทุกข์อย่างเห็นได้ชัด เพราะมีหลุมรายได้เกิดขึ้นมหาศาลในระหว่างทางที่คนกลุ่มนี้ควรจะได้ก่อนจะถึงปัจจุบัน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ดร.เศรษฐพุฒิ  กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยตอนนี้ยังไม่ได้ฟื้นเข้าสู่ศักยภาพที่แท้จริง โดยปัจจุบันภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสัดส่วน GDP จะอยู่ที่ภาคบริการ ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก จึงไม่แปลกใจว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศ เมื่อรวมกับภาคการผลิตที่สำคัญกับการส่งออกของไทยกำลังเจอกับปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยหลายอุตสาหกรรมเจอการแข่งขันที่เข้มข้น โดยเฉพาะการแข่งขันของสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทย

ทั้งนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เห็นได้ชัด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมหลัก เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันสูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามกระแสโลกได้ และเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

"เศรษฐกิจไทยที่บอกว่าค่อย ๆ ฟื้นช้า ๆ แล้วกำลังกลับเข้าสู่ศักยภาพ จริง ๆ แล้วในปัจจุบันศักยภาพของเศรษฐกิจก็ไม่ได้อยู่ที่ 4-5% แต่อยู่แค่ 3% บวกลบเท่านั้น" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ กล่าวว่า สัดส่วน GDP สะท้อนศักยภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างเห็นได้ชัด เพราะ GDP จะประกอบไปด้วยตัวเลขสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวของกำลังแรงงาน และอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2547-2556 พบว่า กำลังแรงงานของไทยอยู่ที่ 1.2% ขณะที่ผลิตภาพการผลิต อยู่ที่ 2.6% เมื่อรวมกันก็ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของ GDP ที่ 4% 

แต่ในช่วงหลายมานี้ คือในช่วงปี 2557-2566 เห็นชัดว่า กำลังแรงงานของไทยลดลงจาก 1.2% เหลือ 0.04% จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่วนผลิตภาพการผลิต อยู่ที่ 2.6% ทำให้ค่าเฉลี่ยของ GDP อยู่ที่ 2.8% เท่านั้น ซึ่งเป็นศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the press ผู้ว่าการ พบสื่อมวลชน

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ทั้งทุน จำนวนและคุณภาพแรงงาน และผลิตภาพการผลิต จะพบว่า ศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในปี 2566-2571 ปรับลดลงเหลือแค่ 3% เท่านั้น ต่ำกว่าช่วง 10 ปีก่อนเกิดโควิด ซึ่งมีศักยภาพอยู่ที่ 3-3.5% 

"การประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับไปที่เท่าไหร่ มันคงไม่ใช่ฟื้นกลับไปที่ 4-5% แต่จะฟื้นแค่ประมาณ 3% บวก ลบ เท่านั้น" ผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยัน

ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่า การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้เกินกว่าศักยภาพในปัจจุบัน ก็ยังมีวิธีการที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ โดยไม่ใช่มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว