ธปท. สั่ง Non-Bank เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ "แก้หนี้ครัวเรือน"

26 มิ.ย. 2567 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2567 | 18:16 น.
2.4 k

ธปท. เรียกผู้บริหารระดับสูง ธุรกิจกลุ่มนอนแบงก์ (Non-Bank) หารือ สั่งเร่งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างทันท่วงที ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ

วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เชิญกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนอนแบงก์ (non-bank) รายใหญ่มาหารือ เพื่อเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หลังทยอยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 

สำหรับการหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนอนแบงก์ ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างทันท่วงที ด้วยแนวทางที่ลูกหนี้สามารถปฏิบัติได้จริง 

โดย ธปท. ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนอนแบงก์ต้องดูแลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักเกณฑ์ Responsible Lending ซึ่ง ธปท. จะมีบทลงโทษหากพบการฝ่าฝืน รวมทั้งกำชับให้ต้องเพิ่มเติมการติดต่อสื่อสารกับลูกหนี้ เพื่อให้ทราบถึงทางเลือก ประโยชน์ เงื่อนไขอย่างชัดเจนและครบถ้วน ตลอดจนหารือถึงแนวทางการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วย  

ทั้งนี้ ธปท. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนอนแบงก์จะมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สามารถเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนได้ต่อไป

สำหรับ มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending - RL) ของธปท. มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร โดยมุ่งหมายให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค และมุ่งหวังให้ผู้ให้บริการมีการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินคดีและโอนขายหนี้ 

ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ “ลูกหนี้มีวินัย” ทางการเงินที่ดีขึ้น ผ่านการให้ข้อมูล เงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และบริหารจัดการหนี้ของตนเองได้

มาตรการ RL ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ

  1. ช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567
  2. ช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถปิดหนี้ได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567
  3. การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น