แบงก์ชาติ แนะเพิ่มขีดแข่งขันข้าวไทยต่อยอดโครงการ"ปุ๋ยคนละครึ่ง"

27 มิ.ย. 2567 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 19:45 น.
861

แบงก์ชาติ ห่วงโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ช่วยชาวนา 29,980 ล้าน กระทบสภาพคล่องธ.ก.ส. แนะกำหนดกรอบระยะเวลาการชดเชยให้ชัดเจน พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยระยะยาวต่อยอดโครงการ

โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หรือ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 วงเงินงบประมาณรวม 29,980.17 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 โดยกำหนดสิทธิชาวนาเข้าร่วม ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. โดยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ธปท.ฝกฉ. (73) 424/2567 วันที่ 24 มิถุนายน 2567 ลงนามโดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน (ผู้ว่าการแทน) เรื่อง โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ระบุว่า 

ตามที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0506/ว(ล) 12680 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2567 แจ้งว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอเรื่องโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 หรือ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยขอให้ ธปท. เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. นั้น

ธปท. ขอเรียนว่า ไม่ขัดข้องในการดำเนินการโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยการสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น โดย ธปท. มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนมีการปรับตัวพัฒนาการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืนและลดภาระทางการคลังในอนาคต โดย ธ.ก.ส. ควรมีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงโครงการต่อไป

2. ภาครัฐควรพิจารณากำหนดกรอบระยะเวลาการชดเชย ธ.ก.ส. ให้ชัดเจนและเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. เนื่องจากโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ใช้งบประมาณจากแหล่งเงินทุน ของ ธ.ก.ส. จำนวนสูง

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินนโยบายอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำให้สามารถเข้าถึงและเพียงพอต่อการเพาะปลูก การวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยได้ในระยะยาว

 

ภาพประกอบข่าวโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับวงเงินการดำเนินโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” นั้น ตามมติของที่ประชุมครม. กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท แบ่งเป็น

1. เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความต้องการโครงการฯ ในส่วนของ 500 บาทต่อไร่ ที่รัฐบาลสมทบ โดยจัดสรรงบประมาณชดเชยด้วยอัตราต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า บวกค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส (ปัจจุบันอัตรา 3.62%) และบวกต้นทุนเงินตามระยะเวลา วงเงิน 29,518.02 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • วงเงินจ่ายสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร 28,350.00 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 1,168.02 ล้านบาท

2. งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2567 วงเงิน 462.15 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการของ กระทรวงเกษตรฯ ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และส่งมอบให้เกษตรกร เช่น ค่าบริหารจัดการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรค่าใช้จ่ายสุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ เป็นต้น 

ด้าน สำนักงบประมาณ ได้มีความเห็นว่า สำหรับแหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 29,518.0200 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เห็นสมควรให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง 

โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะต้องไม่เกินสัดส่วนตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ตามนัยมาตรา 28

โดยมีข้อสังเกตว่าค่าบริหารโครงการ 2% เป็นเวลา 3 เดือน ที่ผ่านมาไม่มีการชดเชยค่าบริหารโครงการในลักษณะดังกล่าว สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้นให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและเเผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป 

อย่างไรก็ดีการชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราชดเชยต้นทุนเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าบวกค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้านั้น ในการดำเนินโครงการตามมาตรการที่ผ่านมา รัฐบาลจะรับภาระชดเชยอัตราต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส ซึ่งยังคงอยู่ในสัดส่วนที่รัฐบาลสามารถรับภาระได้ 

รวมถึงมีการใช้อัตราต้นทุนทางการเงินดังกล่าวกับมาตรการ/โครงการที่มีลักษณะการดำเนินการรูปแบบเดียวกัน จึงเห็นสมควรให้คงหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการชดเชยอัตราต้นทุนทางการเงินที่ต้องขอรับชดเชยจากภาครัฐเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

สำหรับแหล่งเงินในส่วนที่เหลือของโครงการ จำนวน 462.1495 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวและส่งมอบให้เกษตรกรที่จะเสนอขอใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางฯ เนื่องจากมีกิจกรรมที่เป็นภารกิจปกติของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร แล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการเป็นลำดับแรก 

ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็นต้องขอใช้งบกลางฯ ขอให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ตามชั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ