คลังเร่งอัดซอฟต์โลนแสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจโต3%

03 ก.ค. 2567 | 18:42 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 18:42 น.
837

คลังเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจปี 67 ให้โตตามเป้า3% ดึงออมสินออกซอฟต์โลน 1 แสนล้าน อุ้มรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เร่งรัดเบิกจ่ายงบไม่น้อยกว่า 70% พร้อมเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ช่วยเม็ดเงินไหลลงเศรษฐกิจปลายปี สั่งกรมภาษี รีดรายได้ตามเป้า

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่า ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเติบโตจีดีพีสิ้นปี 2567 ที่ 2.4-2.5% ต่อปี แต่เป้าหมายรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 3% ในปี 2567 และในระยะยาวต้องการให้เติบโตถึง 5% 

รัฐบาลจึงกำหนดมาตรการเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 1 ล้านคนจากเป้าหมายปี 2567 จะอยู่ที่ 35.7 ล้านคนเพิ่มเป็น 36.7 ล้านคน รวมถึงหามาตรการให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น เพื่อให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะสามารถดันจีดีพีเพิ่มขึ้นมาอีก 0.12%  

การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐ ที่มีประมาณ 8.5 แสนล้านบาทให้ได้ 70% จากปัจจุบันที่มีีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจริงและรอการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรวมกันแล้ว 51% ซึ่งหากสามารถผลักดันงบลงทุนได้ 70% ภายในปีนี้ จะสามารถเพิ่มจีดีพีได้อีก 0.24%

นอกจากนั้น ยังจะให้ธนาคารออมสินออกมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.1% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อต่อให้ลูกค้า SMEs รายใหม่ 

คลังเร่งอัดซอฟต์โลนแสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจโต3%
 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า  เร็วๆ นี้จะดำเนินการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนผ่านธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับธนาคารพาณิชย์อัตราดอกเบี้ย 3.5% ส่วนที่เกิน 5 ปีคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนการดำเนินนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด รหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไท ย(ธปท.) ให้สามารถหลุดจากติดแบล็คลิสต์ (Black List) ได้เร็วขึ้นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง ได้แก่ การดำเนินการผ่านคณะกรรมการ หรืออีกหนึ่งแนวทางคือการดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เลย 

นอกจากนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 นี้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้ 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 นี้ถือว่า เราออกตัวช้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการบังคับใช้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้มีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณและการจัดเก็บรายได้ ดังนั้นจึงมอบให้กรมบัญชีกลางเร่งรัดการเบิกจ่าย กรณีการจัดซื้อจัดจ้าง หากมีผู้ประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว ก็สามารถทำสัญญาได้เลยเชื่อว่า ยอดการเบิกจ่ายจะไม่แพ้ปีก่อนหน้า 

คลังเร่งอัดซอฟต์โลนแสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจโต3%

ทั้งนี้เชื่อว่า การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้มากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ที่ 2.4% โดยยังไม่นับรวมโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลจะใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกราว 5 แสนล้านบาทในช่วงปลายปีนี้ 

ส่วนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 ถือเป็นช่วงที่ท้าทาย เนื่องจากขณะนี้ยอดการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 26,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงได้เรียกอธิบดี 3 กรมจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะกรมสรรพากรให้เร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้รายได้ของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมาย 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออมสินจะเป็นผู้ปล่อยซอฟต์โลนให้กับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยสินเชื่อดูแลภาคธุรกิจต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอียังเผชิญปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูง 

“เรื่องนี้ต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อน ซึ่งธนาคารออมสินสามารถดำเนินการได้เลย หากได้รับอนุมัติแล้ว โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐ หรือดำเนินการภายใต้นโยบายกึ่งการคลัง มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ” แหล่งข่าวกล่าว 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2566 (8 ส่วนราชการ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม จำนวน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท (ร้อยละ 11.98) และรายจ่ายลงทุน 201,510.96 ล้านบาท (ร้อยละ 88.02) 

ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2566 (11 รัฐวิสาหกิจ) วงเงินเบิกจ่ายรวม 108,924.41 ล้านบาท ประกอบด้วย ทางราง (รฟท. รฟม. และ SRTA) วงเงิน 63,525.06 ล้านบาท  ทางบก (กทพ. ขสมก. และ บขส.) วงเงิน 11,334.87 ล้านบาท  ทางน้ำ (กทท.) วงเงิน 1,915.76 ล้านบาท และทางอากาศ (สบพ. ทอท. บวท. และ รทส.) วงเงิน 32,148.72 ล้านบาท

สำหรับโครงการสำคัญขนาดใหญ่ที่จะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566 อาทิ

  • โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ  
  • โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร  
  • โครงการรถไฟไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา)  
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี
  • โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง –วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก  
  • โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต
  • โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
  • โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ภาพรวมผลการ
เบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 26.42% ของงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับจัดสรร 228,803.59 ล้านบาท จากแผนที่วางไว้ 27.53% ซึ่งถือว่า เป็นไปตามแผน เร่งทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมสำหรับการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ต่อรัฐสภา 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ขณะที่รายจ่ายงบลงทุนสูงกว่าเป้าหมายรัฐบาล ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ 23.01% โดยตั้งเป้าแผน
เบิกจ่ายสะสมในเดือนกรกฎาคมนี้ อยู่ที่ 136,458 ล้านบาท คิดเป็น 59.64% ทั้งนี้ในระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เหลือ 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2567) คาดว่าทุกหน่วยงานจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณฯ ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลและกระทรวงฯ ตั้งไว้  

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลถอดบทเรียนจากซอฟต์โลน เวอร์ชั่น 1 ที่เราเรียกว่า ซอฟต์โลนไม่ตรงปก เพราะคนที่รับก็ไม่ตรงปก ไม่ช่วยผู้ประกอบการที่เป็น NPL รหัส 21 ให้ลดลงได้ ดังนั้นซอฟต์โลน เวอร์ชั่น 2 ที่จะออกมา จึงอยากให้เตรียมพร้อมรองรับ 3 กลุ่มหลักคือ 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

  1. กลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือเก่า เพราะคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่มีการจดทะเบียนการค้า ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ รวมถึงขาดหลักประกัน ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการนำธุรกิจเข้าระบบและอยู่ได้อย่างยั่งยืน 
  2. กลุ่ม NPL รหัส 21 ซึ่งกลุ่มนี้ควรจะหลุดพ้น เพราะกินระยะเวลาเกิน 3 ปี แต่แท้ที่จริงแล้วในฐานข้อมูลยังติดประวัติอยู่ แต่การจะสนับสนุนสินเชื่ออาจจะต้องมีเงื่อนไขข้อกำหนดที่ชัดเจน
  3. กลุ่ม NPL ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังโควิด (ที่ไม่ใช่กลุ่ม รหัส 21) เพราะที่ผ่านมาพบว่า กลุ่ม 2 และ 3 จะมีประวัติ NPL ที่กู้ใหม่ยาก เปอร์เซนต์การปฏิเสธสินเชื่อสูง อีกทั้งปัจจุบันพบว่า กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ มักมีปัญหาเจ้าหนี้หลายราย ดังนั้นปัญหาที่พบคือ ใครจะเป็นคนไกล่เกลี่ยหรือประนอมหนี้ให้ลูกหนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไก ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน 

“รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เริ่มส่งสัญญาณเสี่ยงว่า จะเข้าสู่กลุ่ม NPL ซึ่งควรจะดึงกลุ่มนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะไหลเข้าสู่กลุ่ม NPL เพื่อป้องกันการตกชั้น และรัฐบาลควรมีกลไกให้กลุ่ม NPL เข้าโครงการสมัครใจแก้หนี้ เพื่อคืน SMEs ที่แข็งแรงกลับสู่เศรษฐกิจไทย ซึ่งกลไกดังกล่าว ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ คุณสมบัติ ขั้นตอนและวิธีการที่ “เร็วและง่าย” เพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง โดยผ่านเฉพาะธนาคารของรัฐและธนาคารเฉพาะกิจเท่านั้น” นายแสงชัย กล่าว 

ทั้งนี้ข้อมูลจากสสว. ระบุว่า 92% ของ SMEs ไทยขาดเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่อง สิ่งที่จะช่วยได้คือ การให้ซอฟต์โลนแบบ Term Loan โดยธนาคารออมสินออกบัตรเครดิตเป็นเครดิตเพื่อการค้า ไม่ใช่เพื่อเบิกเงินสด แต่เพื่อนำไปใช้จ่ายทั้งค่าแรง ค่าเช่าฯลฯ ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ส่วนเอสเอ็มอีแบงก์ ควรทำเรื่องของ Factoring  

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้โอกาสในซอฟต์โลนรอบใหม่ ดึงกลุ่มธุรกิจออนไลน์เข้าสู่ระบบซึ่ง ธุรกิจออนไลน์เป็นธุรกิจอนาคต หากร่วมมือกับแพลฟอร์มต่างๆ ดังนั้นการใช้ซอฟต์โลนมาเป็นแรงจูงใจ ทำให้พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น แทนที่จะไปใช้สินเชื่อนอกระบบ และรัฐบาลเองก็สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นด้วย  

“กลุ่มที่เคยยื่นกู้แล้วไม่ได้ ก็ต้องแยกเป็นไซโลไว้ กลุ่มที่เกือบได้ ก็ส่งพี่เลี้ยงที่ปรึกษาลงไปบ่มเพาะ พัฒนา เติมเรื่องขีดความสามารถ ให้เวลาเขา 3-12 เดือน ผลักดันให้เขากลับมา ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ ก็ต้องไปออกแบบกลไกที่จะช่วยให้มีแหล่งทุน ที่ไม่อยู่นอกระบบ เพราะวันนี้ผู้ประกอบการ SMEs เองติดกับดักหนี้ หากซอฟต์โลน 2 นี้เริ่มได้ภายในไตรมาส 3 ก็จะต่อลมหายใจให้กับ SMEs ได้อีกมาก” นายแสงชัย กล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,006 วันที่ 4 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567