คลังจ่อหารือเครดิตบูโร ดึงเช็คเด้งติดแบล็คลิสต์

03 ก.ค. 2567 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 17:14 น.
651

คลังเตรียมแก้ไขกฎหมาย “เช็คเด้ง” ติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโร สร้างความมั่นใจให้ผู้รับ พร้อมตัดโทษอาญาออก ตามมาตรฐานทั่วโลก จ่อถก ธปท. ล้างประวัติลูกหนี้โควิด ให้เข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น

 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของผู้แทนราษฎร ซึ่งได้เสนอในร่างพ.ร.บ.ให้นำโทษอาญาออก ตามมาตรฐานที่เป็นไปทั่วโลก ฅแต่ยังมีกลไกที่ต้องเพิ่มเติมคือ การใช้กลไกของเครดิตบูโร เพื่อให้มีความมั่นใจว่า เอกสารทางการเงิน หรือเช็ค มีความน่าเชื่อถือ ฉะนั้น จึงอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของผู้ที่จ่ายเช็คเด้งว่า จะมีประวัติบันทึกในเครดิตบูโรอย่างไร

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“เราจะต้องคุยกับเครดิตบูโรเพิ่มเติม เพราะสุดท้ายมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เช็คมีความมั่นใจว่า ผู้รับจะสามารถนำไปขึ้นเงินได้ ส่วนระยะเวลาในการบันทึกในประวัติเครดิตบูโร จะเท่ากับการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 8 ปี หรือไม่นั้น คาดว่าเกณฑ์จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง”นายจุลพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากผลกระทบของโควิด หรือรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 ล้านราย ซึ่งตามเงื่อนไขของเครดิตบูโรแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะหลุดจากบัญชีเครดิตบูโร ภายในปีหน้า แต่รัฐบาลก็อยากจะร่นระยะเวลาดังกล่าวให้เร็วขึ้น เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้ สามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น

"กระทรวงการคลัง จะมีการหารือธปท. และเครดิตบูโร เพื่อหาแนวทางช่วยลดหนี้ NPL จากผลกระทบของโควิด หรือลูกหนี้รหัส 21 ให้สามารถหลุดจากติดแบล็คลิสต์ (Black List) ได้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีกครั้ง"
 

คลังจ่อหารือเครดิตบูโร ดึงเช็คเด้งติดแบล็คลิสต์

 

ทั้งนี้ ในเงื่อนไขของเครดิตบูโร กรณีลูกหนี้สถาบันการเงิน กลายเป็น NPL หรือค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะต้องอยู่ในบัญชีของเครดิตบูโร Black list มีอายุความนาน 5 ปี และหลังจากนั้นเมื่อหลุดจาก black list แล้ว ข้อมูลของลูกค้าดังกล่าว ก็ยังจะต้องถูกจัดเก็บประวัติในเครดิตบูโรอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปี 

“ระยะเวลาที่ลูกหนี้ NPL ที่อยู่ในเครดิตบูโรนานถึง 8 ปีถือว่ายาวนานเกินไป เราจึงมีแนวคิดที่จะเข้าไปดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานะ black list จาก 8 ปี เหลือ มีอายุความ 3 ปี และเก็บประวัติไว้ 3 ปี ซึ่งการที่รัฐเข้ามาช่วยลูกหนี้ NPL รหัส 21 ดังกล่าวไม่น่าจะถูกมองว่าเสียวินัย เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด” นายจุลพันธ์ กล่าว

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,005 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567