เครดิตบูโรชี้ ปลดล็อคสถานะลูกหนี้รหัส 21 ไม่หมู!

12 มิ.ย. 2567 | 15:31 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 15:31 น.
516

เครดิตบูโรเปิดข้อมูล ลูกหนี้ รหัส 21 ไตรมาส 1 ปี 67 ราว 4 แสนล้านบาทหรือ 4.3 ล้านบัญชี พบหนี้เสียเพิ่มต่อเนื่อง เฉียด 2 ล้านบัญชีปี 66 แจปลดล็อคสถานะลูกหนี้รหัส 21 ไม่หมู เหตุติดกติกาเข้ม แถมเศรษฐกิจโตต่ำ

ตามที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2567 เตรียมหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางช่วยเหลือกลุ่ม ลูกหนี้รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2563-2565ประมาณ 4 ล้านคนให้สามารถออกจากเครดิตบูโรเร็วขึ้นนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับบัญชีหนี้เสียประเภทนี้หรือบัญชี NPL รหัส 21 ว่า บัญชี NPL รหัส 21 กู้โดยบุคคลธรรมดา มียอดคงค้างเป็นตัวเงิน ณ ไตรมาส 1/2567 ประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่นับเป็นจำนวนบัญชีแล้ว จะอยู่ประมาณ 4.3 ล้านบัญชี

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)

ถ้าเราเอา 4.3 ล้านบัญชีมาคลี่ออกดูจะพบว่า 4.2 ล้านบัญชี เกิดเป็นหนี้เสียในปีไหนบ้าง (มองย้อนกลับไปในอดีต) ซึ่งข้อมูลมันบอกว่า

  • 2.5 แสนบัญชีเป็นหนี้เสียปี 2563
  • 7.6 แสนบัญชีเป็นหนี้เสียปี 2564
  • 1.23 ล้านบัญชีเป็นหนี้เสียปี 2565
  • 1.88 ล้านบัญชีเป็นหนี้เสียปี 2566
  • และ 1 แสนบัญชีเป็นหนี้เสียในไตรมาส 1ปี 2567

มองจากตัวเลขจะเห็นว่า เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นสะสมมาตลอดในช่วงระหว่างการระบาดคือ 2563-2565 พอโควิดจบ แต่คนมีหนี้หลังโควิดมันไม่จบ ตัวเลขจำนวนบัญชีหนี้เสียสะสมเพิ่มระดับล้านเกือบสองล้านบัญชีในปี 2566

เครดิตบูโรชี้ ปลดล็อคสถานะลูกหนี้รหัส 21 ไม่หมู!

ขณะที่กติกาการปรับโครงสร้างหนี้บอกว่า ลูกหนี้จะปรับโครงสร้างหนี้ได้ต้องมีศักยภาพ ย้ำว่า ต้องมีศักยภาพ ศักยภาพคือต้องมีรายได้มากพอ มั่นคงพอ เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ตามตารางใหม่ของสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

ขณะเดียวกัน ก็มีกติกาทางบัญชีในการจัดชั้นสถานะหนี้เข้มข้นเพิ่มอีกว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในความเสี่ยงด้านเครดิต(SICR)เช่น ค้างชำระเกิน 31 วันหรือหนึ่งงวด ต้องจัดชั้นกันสำรองทันทีในสถานะ SM หรือกลายเป็นหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ และการจะออกจาก SM ได้ บัญชีสินเชื่อนั้น ต้องมีการชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขต่อเนื่องอย่างน้อย 3งวดติดกัน

บัญชีสินเชื่ออย่างน้อยหลายล้านบัญชีนี้ สามอันดับแรกอยู่ในความดูแลของธนาคารพาณิชย์ 1.3แสนล้านบาท อยู่กับสถาบันการเงินของรัฐ 1.7 แสนล้านบาท อยู่กับเช่าซื้อลีสซิ่ง 5.5 หมื่นล้านบาท ขอร้องว่า เวลาเสนอข้อมูลอย่าเอาแต่ %มาแสดงเพื่อบอกว่าองค์กรใต้การกำกับของฉันมีจำนวนบัญชีน้อย ยอดหนี้มันก็พอๆกันนะครับ

มาตรการของทางการที่จะช่วยให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้เสียรหัส 21 นอกจากเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างรับผิดชอบ  การขายหนี้ก้อนนี้ให้ AMC การตัดหนี้สูญแบบตัดใจไม่ตามหนี้ต่อ หรือจะมีการให้มีการหยุดส่งข้อมูลและลบข้อมูลออกจากระบบ

การจะให้เจ้าของบัญชีเหล่านี้กลับเข้ามายื่นขอกู้ได้ในเวลานี้ไม่หมู เพราะ

1.กติกาการปล่อยกู้เข้ม

2.กติกาการปรับโครงสร้างหนี้นั้นเงื่อนไขต้องมีศักยภาพ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบยืดหยุ่น(มาตรการฟ้า-ส้ม) ก็ไม่มีแล้ว ทุกอย่างว่ากันตามปกติ

3.กติกาทางบัญชี การจัดชั้นการกันสำรองเข้มข้นเหมือนก่อนเกิดโควิดระบาด

4.สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่โตต่ำ กระจายไม่ทั่วถึง และมีการแข่งขันค้าขายที่รุนแรง

5.ต้องเข้าอกเข้าใจลูกหนี้กลุ่มนี้ว่า เขาเป็นหนี้เสีย เพราะสถานการณ์ ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามของธปท. เขาไม่ได้อยากเป็นหนี้เสีย แต่การปิดตลาด สั่ง Lock down ปิดบ้านปิดเมือง สนามบินปิด งดการพบปะกันต่อหน้า ห้ามออกจากบ้าน ผลมันคือทำให้ค้าขายไม่ได้ ยังจำกันได้ใช่มั้ย

ตอนนี้เราใช้กติกา มาตรฐานแบบปกติ แต่คนที่เจอโรคระบาด มันมีภาระตามมาหลังวิกฤติไม่ปกติดอกเบี้ยเงินกู้มันเดินตลอดเพราะมันไม่รู้จักโรคระบาด ต้นเงินก็ไม่ได้ลด นี่ยังไม่นับเรื่องเถียงกันว่าคิดดอกเบี้ยตอนพักการชำระหนี้มันคิดกันอย่างไรระหว่างคนในองค์กรเดียวกัน คิดจากยอดที่พักการชำระหนี้ หรือคิดจากยอดใหญ่ เป็นต้น

สุดท้าย นี่คือข้อมูลบัญชีสินเชื่อที่บุคคลธรรมดากู้และกลายเป็นหนี้เสียเพราะโควิดตามคำนิยามของธปท.ซึ่งอยู่ในนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ไข