พิชัย พร้อมออกมาตรการแก้หนี้เสีย ให้รายย่อยพ้นเครดิตบูโร

19 มิ.ย. 2567 | 20:56 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2567 | 21:25 น.
3.6 k

“พิชัย” รมว.คลัง แจงตั้งงบปี 68 ขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง หนี้สาธารณะไม่เกิน 70%ของจีดีพี พร้อมออกมาตรการดูแลรายย่อย ลูกหนี้เสีย ให้พ้นสถานะเครดิตบูโร

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ถึงการกำหนดกรอบกู้ชดเชยขาดดุล 8.65 แสนล้านบาท ว่า  การตั้งงบประมาณขาดดุลดังกล่าวนั้น ยืนยันว่า เราทำเป็นระบบค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขอย้อนถอยหลัง 20 ปีที่แล้ว เพื่อให้เห็นสถานการณ์ โดยจีดีพีประเทศไทยเติบโตเกิน 10% แต่หลังจากนั้นแนวโน้มลดลงเป็นขั้นบันได

“หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วง 5 ปีแรก ค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง เหลือ 4.5% ส่วน 5 ปี ถัดมาเหลือ 3.5%  และต่อมาอยู่ที่ 2.5% เราจะเห็นว่าทุกๆ 5 ปี เศรษฐกิจเติบโตลดลงเป็นขั้นบันได ทั้งนี้ ที่หนักสุด คือ 5 ปีสุดท้าย ในช่วงสถานการณ์โควิด ติดลบอยู่ที่ -0.4% และในช่วงโควิด 3 ปี ค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 10 ปีนี้ การเติบโตเพียง 2% เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาขึ้นจริง”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลงเป็นปัญหามาจากโครงสร้าง แต่การแก้ปัญหาให้ประเทศไปสู่นิวเทคโนโลยี การลดโลกร้อนต่างๆ เราไม่สามารถแก้ไขได้ใน 1 ปี หรือ 6 เดือน แต่จะต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ฉะนั้น การจัดทำงบประมาณ จึงจัดทำเพื่อรองรับระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ไม่ว่าการจัดจะขาดดุลเท่าใดก็ตาม แต่จะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

ขณะเดียวกัน สถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมานี้ กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังมีปัญหา โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถบรรทุก ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของคนไทย แม้เกิดวิกฤตเพียงใดแต่ยอดมักจะไม่ติดลบ แต่ขณะนี้ยอดจดทะเบียนลดลงมากว่า 1 ปีแล้ว  โดยเฉพาะรถยนต์นั่งลด 19.3% เนื่องจากมีรถไฟฟ้าเข้ามาใหม่ รถจักรยานยนต์ ลดลง 17.6% ซึ่งยืนยันว่าภาคครัวเรือนไม่มีกำลังซื้อ

ส่วนภาคผลิต โดยเฉพาะภาคผลิตรายย่อย เกษตรกร ผลผลิต 4 เดือนแรก หดตัวต่อเนื่อง 2% เหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี 5 เดือนแรกขยายตัวได้ 37% ซึ่งจะเป็นการกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเกิดวิกฤตโควิด ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90% และขณะนี้มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้แตะ 19 ล้านล้านบาท แต่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท โดยหนี้ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เริ่มเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ส่วนที่อยู่อาศัยก็เริ่มมีปัญหา แสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายกลุ่มที่ฟื้นตัวจากโควิด แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหา NPL ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีมูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท แน่นอนว่า เมื่อเครื่องจักรภาคประชาชน และภาคการผลิตมีปัญหา หนี้สาธารณะจึงปรับเพิ่มขึ้น

นายพิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฐานะการเงินความเข้มแข็งมากๆ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน เรามีหนี้สาธารณะไม่เกิน 5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นไม่เกิน 50%ของจีดีพี แต่สิ่งที่สะสมมาวันนี้ หนี้เราอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านล้านบาท เรามีหนี้ขาดดุลเพิ่มอีกกว่า 8.65 แสนล้านบาท คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านล้านบาทแน่นอน

“ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับนี้มีความกังวล แต่เราก็ยังแข็งแรงอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีสถานะแข็งแกร่งกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปหลายประเทศ มีอัตราส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่าเรามาก และแม้ว่าจะสูงกว่าเรายังมีความน่าเชื่อถือในระดับกรณีที่จะมีการลงทุน ปรับโครงสร้างพื้นฐานได้ในอนาคต”

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว ในระยะสั้น รัฐจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหารายย่อยก่อน ผ่านวิธีการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย ผ่านเครื่องมือสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน สามารถปล่อยสินเชื่อช่วยประชาชนได้กว่า 4 ล้านล้านบาทแล้ว 

ขณะเดียวกันได้หารือกับธนาคารแหงประเทศไทย (ธปท.) ให้แบงก์พาณิชย์สนับสนุนเข้าถึงสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องผู้ที่มีสถานะเป็น NPL และรายชื่ออยู่ที่เครดิตบูโร จึงมีข้อจำกัดเข้าถึงสินเชื่อ ขณะนี้เรามีมาตรการทบทวนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ให้หลุดจากสถานะ NPL และหลุดจากเครดิตบูโร เพื่อช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังจากติดลบมานานกว่า 1 ปี ตอนนี้สัญญาณการส่งออกเริ่มกลับมาเป็นบวก หลังจากมีการใช้จ่าย ลากรลงทุน คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2567 นี้ จะขยายตัวได้ 2.5% และหากมีการอัดฉีดเข้าไป จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3% ทั้งนี้ จากสิ่งที่จะทำ นำมาสู่การจัดทำงบประมาณปี 2568 ผ่านวิธีการกระตุ้น ดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการเติมเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจ

นายพิชัย กล่าวว่า การตั้งงบประมาณขาดดุล 8.65 แสนล้านบาทนั้น แต่ก็ได้นำกรอบนโยบายการเงินการคลังระยะปานกลางมาดู เพื่อให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง อย่างไรก็ตาม ท่านยังจะเห็นยอดการขาดดุลจากนี้อีกหลายปี แต่จะเป็นการเพิ่มในระดับที่ค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ หากสิ่งเหล่านี้สัมฤทธิ์ผล เศรษฐกิจเติบโตขึ้น รายได้ทางรัฐมากขึ้น แม้ว่าหนี้จะสูงขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เมื่อเทียบอัตราส่วนหนี้สาธารณะ ต่อเศรษฐกิจจะไม่เกินกรอบเพดาน 70% และอยู่ในภาวะลดลงในปี 25670

“จากแผนที่ทำไว้ 4 ปีข้างหน้า ผมเข้าใจว่ามูลค่าจีดีพีจะอยู่ที่ 22 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ใส่โครงการต่างๆ เพิ่มเติม และหากเราขาดดุลเช่นนี้ต่อไป โครงการหนี้แม้จะเพิ่มขึ้นไปอีก หนี้สาธารณะก็จะไม่เกินเพดาน 70% และหนี้สาธารณะจะค่อยๆ ลดลง”