โบรกชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท กระทบหุ้นค้าปลีก-ร้านอาหาร

16 พ.ค. 2567 | 15:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 15:34 น.

โบรกมอง ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาทต่อวัน หนุนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่คาดหุ้นกลุ่มร้านค้าปลีกและร้านอาหาร CPALL ZEN M ได้รับผลกระทบ

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล มีความชัดเจนแล้วว่า กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้กำหนดเป้าหมายการจัดทำรายละเอียดของ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เสนอคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 อีกครั้งเป็นรอบที่สาม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ภายในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 นี้ตามเป้าหมาย 

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าแต่ละจังหวัดจะมีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าไหร่ และให้กำหนดวันที่จะบังคับใช้ด้วยว่าควรบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568 ซึ่งก็อาจเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาลูกจ้างแรงงาน ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ต้องดูผลกระทบต่อนายจ้างด้วย

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำในรอบนี้เป็น 400 บาท นั้น มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอยู่บ้างโดยเฉพาะที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก แต่อาจจะไม่มากอย่างที่ก่อนหน้านี้ตลาดกังวลกัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับขึ้นมาพอสมควรแล้ว จากปัจจัยขาดแคลนแรงงานของหลายอุตสาหกรรม

ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างที่มีการใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมากนั้น มองว่าการขึ้นค่าแรงจะมีผลกระทบที่น้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย เนื่องจากเป็นแรงงานมีทักษะทำให้ค่าแรงที่ได้รับตามปกติสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงแน่ๆ คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มร้านอาหาร อาทิ CPALL ZEN และ M เป็นต้น เนื่องจากมีการจ้างแรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษาพิเศษ เช่น แคชเชียร์ พนักงานจัดเรียงสินค้า พนักงานเสิร์ฟอาหาร และพนักงานทำความสะอาด

ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงแรม ก็อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าคงไม่มากนัก เนื่องจากโรงแรมที่จดเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือโรงแรมขนาดใหญ่อื่นๆ พนักงานส่วนใหญ่มีทักษะพิเศษในด้านภาษาทำให้ได้รับค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขึ้นต่ำ จะมีก็เพียงค่าแรงขั้นต่ำส่วนที่ให้กับลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น สำหรับธรงแรมระดับ 2-3 ดาว ที่อยู่นอกตลาด แน่นอนว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาครัฐ มองว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อกำลังซื้อและสภาพคล่องของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และช่วยในมุมมองของการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากปัญหาโรคระบาดคลายตัส แต่ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ทั้งนี้ จำนวนแรงงานในระบบอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านคน โดยกว่า 4 ล้านคนยังได้รับค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ที่ระกับราว 330-370 บาท โดยการขึ้นค่าแรงเพิ่มเป็น 400 บาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นราว 10-15% จากค่าแรงขั้นต่ำฐานเดิม