รัฐบาลล้มแผน แก้กฎหมายแบงก์ชาติ "พิชัย"ผ่อนคันเร่งขอหารือคลัง

08 พ.ค. 2567 | 19:12 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 19:12 น.
606

นายกฯ มั่นใจ “พิชัย” หย่าศึก ธปท. ลดความขัดแย้ง ด้านขุนคลังปัดแก้ พ.ร.บ.แบงก์ชาติ ชี้เศรษฐกิจในประเทศดี ต้องมองทิศทางเดียวกัน ลั่นความอิสระ ต้องตอบสนองนโยบายรัฐ ดีเวลลอปเปอร์ชี้ แม้ต้องการผ่อน LTV แต่ต้องรักษาเสถียรภาพ

ผลพวงจากการแสดงวิสัยทัศน์ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย “แพทองธาร ชินวัตร” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ในหัวข้อ “10เดือนไม่รอทำต่อให้เต็ม 10” ซึ่งความตอนหนึ่งวิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ความว่า

“กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาและอุปสรรคมากๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะว่า นโยบายทางด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด ทำให้ประเทศของเรามีหนี้ที่สูงมากขึ้นและก็สูงเพิ่มมากขึ้นทุกปีจากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมที่จะเข้าใจและไม่ยอมให้ความร่วมมือประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย”

 

เล็งแก้กฎหมาย 3 ปมหลัก

วาระดังกล่าวกลายเป็นไวรัลประเด็น “ร้อน” ที่แพร่กระจายตีวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งความเห็นที่แตกต่างและตรงกัน พร้อมกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังยกร่างแก้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารประเทศไทย (ธปท.) เรื่องความเป็นอิสระที่มากเกินไปโดยจะแยกการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกมาเป็นหน่วยงานเฉพาะไม่ต้องอยู่ภายใต้ธปท.อีกต่อไป รวมถึงเร่งแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน  (FIDF) 6 แสนกว่าล้านซึ่งหนี้ก้อนนี้ถูกคำนวนเป็นหนี้สาธารณะ

สะท้อนจากพลพรรคเพื่อไทยที่ดาหน้าออกมาสำทับหัวพน้าพรรค ไม่ว่าจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Phumtham Wechayachai ระบุว่า “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่ “ประชาชน” จะกล่าวถึงหรือ “วิพากษ์ วิจารณ์” หรือ “แตะต้อง” ไม่ได้

รัฐบาลล้มแผน แก้กฎหมายแบงก์ชาติ \"พิชัย\"ผ่อนคันเร่งขอหารือคลัง

รวมถึงนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ออกมาระบุว่า เป็นสิทธิตั้งคำถามได้ เมื่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่เกิดจากความอิสระนั้นเป็นที่กังขา เพราะความอิสระของธปท. มาพร้อมกับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ตามข้อตกลงกับคลัง ซึ่งปัจจุบันหลุดกรอบและไม่เป็นไปตามข้อตกลงใช่หรือไม่ 

ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เชื่อมั่นการทำงานของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะสามารถแก้ไขปัญหา ทำให้ธปท.สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยมั่นใจว่า อย่างน้อยสองฝ่ายมีความพยายาม ก็เป็นเรื่องที่ดี และการหารือร่วมกันระหว่างรมว.คลัง กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เชื่อว่าจะทำให้ลดความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่เหมาะสม และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ขุนคลังยันไม่แก้กฎหมาย

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขพ.ร.บ.ธปท. เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ดีอยู่แล้ว ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ FIDF ให้ธปท.ดูแลนั้น เป็นเรื่องที่นานมาแล้ว สุดท้ายเงินก็อยู่ตะกร้าเดียวกัน

นายพิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“เบื้องต้น ผมเข้าใจว่า สุดท้ายไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็เป็นของประเทศ ต้องมาดูว่าใครกำลังดีกว่า โดยปี 2540 ธปท.น่าจะลำบาก ท่านจะไปกู้เงินมาทำอะไรก็ลำบาก เพราะคนที่ยังมีแรงกู้คือภาครัฐ ส่วนสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องมีการหารือกัน และเงินก็อยู่ในตะกร้าเดียวกัน”

สำหรับการที่จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตไปในทิศทางที่ดีจะต้องทำให้คนในประเทศไม่เห็นต่าง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการเห็นต่างเป็นเรื่องที่ไม่ดี โดยมองจุดร่วมที่กระทรวงการคลังอยากเห็นธปท. คือ อยากเห็นธปท.มีสถานะการเงินของประเทศที่มั่นคง สถาบันการเงินที่มีการอำนวยความสะดวกและมีสถานะการเงินที่มั่นคง ทั้งนี้ ยังอยากเห็นมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เงินฝืดอยู่ จะเหยียบคันเร่งขึ้นดีหรือไม่

ส่วนมีการมองความอิสระของธนาคารกลางมากน้อยแค่ไหนนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ความอิสระของธนาคารกลางทุกประเทศเป็นเหมือนกันหมด คือ มีอิสระในความคิด และมีอิสระในการวิเคราะห์ และมีอิสระในการเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ทางเลือกเหล่านั้น มีการตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือพูดอีกอย่างว่า จะต้องตอบสนองความต้องการผู้ที่มาทำงานแทนประชาชน หรือภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในความอิสระ ต้องดูว่าทุกคนได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกันหรือไม่

ลดดอกเบี้ยไม่กระตุ้นศก.

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมืองกล่าวว่า ด้านนโยบายการเงินธปท.ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ เพียงแค่ช่วยบรรเทา ซึ่งธปท.เองก็มีมาตรการต่างๆออกมาอยู่แล้ว ที่เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวตํ่า แต่ไม่ได้มีปัญหา ปีนี้อาจจะดีขึ้น แม้จะไม่มากนักคือ อัตราเติบโตคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่  2.4-2.5%

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

หากจะมองว่า ควรลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าเวลานี้ แต่ความไม่แน่นอนที่ยังสูงและเงินเฟ้อที่ตํ่าลงนั้นเกี่ยวข้องกับนโยบายลดราคาพลังงานของภาครัฐ ซึ่งหากยกเลิกมาตรการรัฐต่อไปอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มจะกลับมาอยู่ในระดับ 1-2% แต่ที่แน่นอนขณะนี้ คือ ความไม่แน่นอนสูงของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เวลานี้ ไม่ว่ายูเครน-รัสเซียหรือตะวันออกกลางซึ่งจะมีผลต่อราคาพลังงาน

“การมองสถานการณ์เวลานี้ ธปท.มองระยะยาว ระยะกลางเพื่อป้องปราม ซึ่งเป็นการมองในหลายมิติ เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ในแง่การเมืองเป็นการมองมิติเดียวคือ พยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นๆ แม้จะมีความเห็นต่างในมุมมองทางการเมืองที่หวังผลระยะสั้น แต่สิ่งสำคัญจะเป็นต้องมีมุมมองในแง่ของการถ่วงดุลระยะสั้นด้วย ฉะนั้นแม้จะมีวิวาทะต่างกัน ก็ไม่แปลกใจ"

ขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการเงินของธปท.เกี่ยวข้องกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนระยะกลางและระยะยาวอาจจะสูงขึ้นได้ ขณะที่ความไม่แน่นอนจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงขึ้น  แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง หากไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ยิ่งเพิ่มความถ่างของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และอาจจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลออก(Outflow)และกระทบต่อค่าเงินบาท  

ในแง่ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยนั้น จึงควรจะมองระยะยาวคือ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะไม่เป็นประเด็นปัญหาในอนาคต  (ทั้งระยะกลางระยะยาวในเชิงเสถียรภาพ) แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่เป็นการมองระยะสั้นและมีผลข้างเคียง สร้างประเด็นปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง เพราะหนี้ธารณะจะทยอยสูงเพิ่มขึ้นถึง 65%ได้

ส่วนจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.ธปท.นั้น ถามว่า จะแก้ไขในประเด็นอะไร เช่น หากจะแก้ไขเพื่อลดความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ กรณีนี้ไม่ดีสำหรับประเทศ เพราะประเทศจำเป็นต้องมีกลไกในการ “ถ่วงดุล” ซึ่งภาพรวมมองว่า พ.ร.บ.ธปท.ที่ใช้อยู่ปัจจุบันดีในระดับหนึ่งแล้ว

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธปท.กล่าวว่า นโยบายการเงินจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือไม่อยู่ที่ ปัจจัยดังต่อไปคือ

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธปท.

  1. การตัดสินใจในการใช้เครื่องมือทางการเงิน มาตรการทางการเงินและนโยบายอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน ประเมินพลวัตเศรษฐกิจในอนาคตได้ใกล้เคียงความจริงแค่ไหน
  2. กรอบความคิดและกรอบเป้าหมายขัดแย้งกับนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ สอดประสานกัน หรือ ถ่วงดุลกัน หรือ ขัดแย้ง ที่สำคัญต้องมี Monetary and Fiscal Policy Mixed ที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
  3. ระบบกลไก พฤติกรรมในการตัดสินใจของทีมบริหารแบงก์ชาติ และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงินเป็นอย่างไร
  4. ต้องทำตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ Inflation Targeting ที่ได้เสนอต่อกระทรวงการคลัง และรัฐบาลไว้

“บางทีการถ่วงดุลกัน อาจไม่ใช่อุปสรรค เพราะธปท.มีเป้าหมายดูแลเรื่องเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ซึ่งหากเห็นว่า เศรษฐกิจมีฟองสบู่ หรือ เงินเฟ้อสูง ก็ต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด แต่เงินเฟ้อตํ่าหรือ ติดลบ ก็ต้องผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อไม่ให้ภาระตกกับมาตรการทางการคลังมากเกินไป มาตรการเงินสามารถตอบสนองได้ทันที แต่มาตรการการคลังต้องผ่านกระบวนการทางการเมืองและกลไกระบบราชการ”ดร.อนุสรณ์กล่าว

หากใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำ เงินเฟ้อติดลบ หากต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็ต้องทำงบประมาณขาดดุล ก่อหนี้สาธารณะไปดูแลเศรษฐกิจฉะนั้นต้องประสานกันให้ดี จึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มีประสิทธิภาพ อย่างไรเงินเฟ้อต่ำและติดลบมา 7 เดือน เพิ่งจะบวกเล็กน้อยเดือนเม.ย และ เป็นผลจากภัยแล้ง (ราคาอาหารแพง) และสงคราม (ราคาน้ำมันแพงขึ้น) เป็นปัจจัยด้านอุปทาน เงินเฟ้อบวกเล็กน้อยไม่ใช่ปัจจัยด้านอุปสงค์ร้อนแรงขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากมองการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ที่ผ่านมาตามปัจจัยข้างต้นนั้น รศ. ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า 

  1. อัตราเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมายด้านล่าง ซึ่งกรอบเงินค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว 1-3% ในประเทศกำลังพัฒนา หรือ รายได้ระดับปานกลางแบบไทย สามารถกำหนดกรอบเงินเฟ้อให้สูงเล็กน้อยได้ เพื่อมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และ ทำให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจ
  2. การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดผลาดบ่อย เพราะทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีความผันผวน มีพลวัตสูงมาก จึงเกิดความไม่แน่นอนตลอดเวลา จึงมีปรับประมาณการเป็นระยะๆ สิ่งนี้ต้องนำเอามาใช้กำหนดนโยบายการเงินและดอกเบี้ยนโยบาย แบบ Dynamics และ Forward looking 
  3. กรอบความคิดอาจถือคัมภีร์แบบสำนักคิดเสรีนิยมใหม่ และ Washington Consensus มากไปหน่อย เวลาตัดสินใจควรดูบริบทของไทย ด้วย เช่น จัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเพราะรัฐธรรมนูญปี 60 และ สว. งบปี 67 มีความล่าช้ากว่า 8 เดือน เป็นต้น มาตรการเงินควรต้องทำอะไรเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาบางอย่าง ใน ภาวะที่เม็ดเงินงบประมาณไม่เข้าสู่ระบบหรือไม่ 
  4. คาดว่า อาจหลุดกรอบเงินเฟ้อด้านล่าง เงินเฟ้อต่ำกว่า 1% ต้องรอดูปลายปี

เอกชนลั่นความอิสระต้องมี

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้ว่าภาคเอกชนต้องการให้ธปท.ยอมพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการขอยกเลิก LTV ชั่วคราว แต่ทั้งนี้ มองว่า ธปท.มีบทบาทต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ การพิจารณาปรับลด ต้องดูความเหมาะสม ขณะรัฐบาลต้องทำหน้าที่กระตุ้นการจับจ่าย ดังนั้นในมุมของภาคเอกชน ทั้งสองฝั่งสามารถทำงานให้สอดประสานกันได้ ส่วนเรื่องแก้พ.ร.บ. แบงก์ชาติ สมาคมไม่ขอเข้าไปก้าวล่วง

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 หรือ RICHY สะท้อนว่า ตามหลักสากลแล้ว ธปท.เป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงมีกฎหมายคุ้มครองในลักษณะเช่นนั้น เพื่อดำเนินการตามหลักการและวิชาการ อย่างไรก็ตาม แต่ละฝ่ายสวมหมวกกันตามหน้าที่ของตัวเอง ธปท.ต้องคอยระวังการเงินประเทศในระยะยาว

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสวมหมวกหาเสียงเลือกตั้งมา พูดอะไรไปต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะเสียคะแนนเสียง จึงพยายามผลักดันสิ่งที่หาเสียงไว้ให้สำเร็จ เพียงแต่การหาเสียงทำได้ง่าย ,ยาก หรือทำไม่เลย ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดชอบของการหาเสียงทุกฝ่าย แต่มักมองว่า เหตุผลของตัวเองถูกต้อง จึงนำมาซึ่งการขัดแย้งกันระหว่าง ผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินกับสิ่งที่รัฐบาลหาเสียง ที่ขัดกัน แต่ทั้งนี้ต้องยึดตามกฎหมายเป็นหลัก จะเหมาะสมกว่า

ส่วนการแก้พ.ร.บ.ธปท. คงเป็นเหตุผลอันควรที่มีนํ้าหนักพอหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลอันควร สามารถแก้ได้ เพราะจะชนะโหวดด้วยคะแนนเสียงในสภาฯ แต่นอกสภาฯเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งเสียงประชาชน และนักวิชาการในด้านต่างๆที่เห็นต่าง และอาจต้องเผชิญหน้ากัน แต่สุดท้ายบริษัทขอฝากถึงธปท.ในเรื่องของการผ่อนปรน เกณฑ์ LTV สำหรับบ้านหลังที่ 2 ควรอยู่ในข่ายที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นสำหรับคนที่มีอายุไม่ถึง 60ปี ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ฟุ่มเฟือยอย่างที่ธปท.เข้าใจ

นางสาวลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเด็นความเป็นอิสระของธปท.นั้น มองว่ามีหลายปัจจัยที่ควรเป็นไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจ เชื่อว่า ภาครัฐมีสิ่งที่จะต้องผลักดันเพื่อให้มีความเป็นกลาง ขณะที่ธปท.คงมีปัจจัยที่จะต้องคำนึงหลายประการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพมากที่สุด

นางสาวลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,990 วันที่ 9 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567