"เผ่าภูมิ" ปกป้อง "อุ๊งอิ๊ง" เผยมีสิทธิ์ตั้งคำถามกับแบงก์ชาติ

06 พ.ค. 2567 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2567 | 17:00 น.

รมช.คลัง "เผ่าภูมิ" ปกป้อง "อุ๊งอิ๊ง" กรณีตั้งคำถามการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ว่า เป็นสิทธิที่จะตั้งคำถามได้ เมื่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่เกิดจากความอิสระนั้น "เป็นที่กังขา"

เพจพรรคเพื่อไทย ระบุวันนี้ (6 พ.ค.) เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามกับการทำงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายเผ่าภูมิมองว่า เป็นสิทธิของน.ส.แพทองธารที่จะตั้งคำถามได้ เมื่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่เกิดจากความอิสระนั้นเป็นที่กังขา

“คุณแพทองธาร ตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสิทธิ เมื่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่เกิดจากความอิสระนั้นเป็นที่กังขา” นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า

“ความอิสระของ ธปท. มาพร้อมกับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ตามข้อตกลงกับคลัง ซึ่งปัจจุบันหลุดกรอบและไม่เป็นไปตามข้อตกลงใช่ไหม เหตุจากระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ (เงินเฟ้อปี 67 คาดจะอยู่ 0.6-0.8)”

(ขอบคุณภาพจากเพจพรรคเพื่อไทย)

การที่ธนาคารกลางไม่สามารถรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป็นระยะเวลายาวนาน คาดหลุดกรอบถึงสิ้นปี 67 สะท้อนถึงประสิทธิภาพของธนาคารกลางนั้นหรือไม่

นายเผ่าภูมิกล่าวต่อไปว่า กระทรวงการคลังต้องการให้ประเทศมีนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินที่สอดประสานกัน มิฉะนั้น นโยบายอีกฝั่งต้องเร่งขึ้นเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศ

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อนโยบายการคลังถูกวิจารณ์ (Digital Wallet) เรา(รัฐบาล) “รับฟังและปรับปรุง” นำสู่การปรับเงื่อนไข เราคาดหวังสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นกับนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น

บางคอมเมนท์ระบุ การที่น.ส.แพทองธารกล่าวว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ" คำพูดอย่างนี้เรียกว่าตั้งคำถามหรือ เพราะฟังดูแล้วต้องเรียกว่าการดิสเครดิต ให้ร้าย หรือกล่าวหากันมากกว่า “อย่าบิดเบือนคำพูดของตัวเองเลย หรือถ้าเอาคำของเพื่อไทยเองก็ต้องเรียกว่าการสร้าง ‘วาทกรรม’ มากกว่ามั้งครับ”

บ้างก็ว่า “เมื่อประสิทธิภาพ รัฐบาล เป็นที่กังขา การตั้งคำถามจึงเป็นสิทธิ มิใช่วาทะกรรม” และ “มีกฎหมายข้อไหนห้ามวิจารณ์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” เป็นต้น