สรรเพชญป้อง ธปท. สวน “อุ๊งอิ๊ง” ชี้อุปสรรคฟื้นศก.คือความดื้อรั้นของรัฐบาล

03 พ.ค. 2567 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2567 | 17:27 น.

“สรรเพชญ บุญญามณี” สวน “อุ๊งอิ๊ง” ชี้อุปสรรคในการฟื้นเศรษฐกิจคือความดื้อรั้นของรัฐบาล ไม่ใช่ ธปท.แต่อย่างใด

วันที่ 3 พ.ค. 2567 กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานของพรรคว่า กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งการเป็นอิสระจากรัฐบาลนั้นเป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นทุกปี จากการที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอดนั้น  

นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า การที่กฎหมายพยายามให้ความเป็นอิสระของ ธปท. นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และรัฐบาลควรภูมิใจที่มีกฎหมายลักษณะนี้ เพราะเป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาลไม่ให้มีข้อครหาในการดำเนินงาน 

ส่วนการที่ น.ส.แพทองธาร คิดแบบนั้น เป็นการคิดแบบไม่เข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะพรรคแกนนำของรัฐบาล เนื่องจากโดยหลักการแล้วการทำหน้าที่ของธนาคารกลางทั่วโลก ที่ได้รับมอบหมายคือการควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจ หรือ เงินเฟ้อ ซึ่งต้องรักษาความเป็นองค์กรอิสระให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและกดดัน 

อีกทั้งบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ธปท. เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความเป็นอิสระและได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากความพยายามในการใช้หนี้ IMF ก่อนกำหนด แต่พอผู้ว่าการ ธปท. ในสมัยนั้นไม่เห็นด้วยก็กดดันให้ออกจากตำแหน่งแล้วแต่งตั้งคนใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของ นายทักษิณ ได้มาดำรงตำแหน่งแทน สิ่งนี้จึงไม่ควรเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

นอกจากนี้ในเรื่องของการขาดดุลงบประมาณที่รัฐบาล ใช้เป็นวิธีการในการบริหารงบประมาณมาโดยตลอดนั้น สาเหตุเนื่องมาจากรายจ่ายที่ต้องใช้ของรัฐบาลมีมากกว่ารายรับที่ได้รับในแต่ละปี ดังนั้น รัฐบาลควรหาวิธีการที่จะสร้างรายรับใหม่ให้รัฐบาล ไม่ใช้ดึงดันคิดแต่จะทำให้เงินบาทเป็นเงินดิจิทัล แล้วเอาเงินดิจิทัลไปแลกเงินบาทเป็นวงจรซ้ำไปซ้ำมา ให้ประชาชนเกิดความสับสน ว่าจะมีการตั้งแบงก์ชาติแห่งที่ 2 มาปั้มเงินเข้าระบบอีกหรือไม่ 

เพราะการกระทำในลักษณะนี้ ตนกังวลว่า อาจจะขาดการตรวจสอบและมีความสุ่มเสี่ยง ที่จะกระทำผิดกฎหมาย และสามารถปั๊มเงินได้โดยที่ไร้การควบคุม เสมือนว่ารัฐบาลอยากจะให้มีธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งที่ 2 ขึ้นภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลในชุดของนายเศรษฐา ได้รับความเห็นที่ไม่ค่อยอยากฟังเท่าใดนักจาก ธปท. 

ทั้งในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายและเอกสารที่ได้ส่งความเห็น และข้อสังเกตต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีความเห็นหลัก ๆ ว่า ควรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ และมีแนวโน้มที่จะบริโภคสินค้าภายในประเทศมากกว่าซื้อสินค้านำเข้า 

และรัฐบาลควรที่จะนำเงิน 500,000 กว่าล้านบาทนั้น ไปลงทุนในเรื่องของโครงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การให้เรียนฟรีอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการ Upskill และ Reskill ให้ประชาชนมีทักษะในการทำงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน หรือการสร้างรถไฟทางคู่ในวงเงินงบประมาณขนาดนี้ก็สามารถพัฒนาได้มากกว่า 10 สาย เป็นต้น 

“สิ่งนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า ซึ่งจากความเห็นนี้ถือได้ว่าเป็นความเห็นที่จริงใจกับประเทศ และกล้าหาญในการทำหน้าที่ของ ธปท.” 

นายสรรเพชญ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลยังคงดึงดันที่จะทำนโยบาย Digital Wallet โดยใช้แหล่งงบประมาณที่ได้เคยแถลงไปก่อนหน้านี้ว่า จะมีที่มาจาก 3 แหล่ง คือ การขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 175,000 ล้านบาท การดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท 

โดยรัฐบาลจะรับภาระในการใช้คืนงบประมาณภายหลัง และบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้น ตนรู้สึกเป็นห่วงการคลังของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะในปี 2568 รัฐบาลเองก็ต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุลและการขยายวงเงินงบประมาณก็ยิ่งจะทำให้งบประมาณในปี 2568 ขาดดุลเพิ่มไปอีก 

อีกทั้งรัฐบาลก็ต้องหาเงินมาใช้คืนให้กับ ธ.ก.ส. ก็เป็นการสร้างหนี้ให้รัฐบาลเช่นเดียวกันถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเล่นแร่แปรธาตุว่าเป็นวิธีการบริหารงบประมาณไม่ใช้หนี้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็คือหนี้ที่รัฐบาลต้องชดใช้เช่นเดิม