ถอดบทเรียน "ธนาคารกลางสหรัฐ" ความอิสระในยุคทรัมป์ VS ไบเดน

08 พ.ค. 2567 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 11:40 น.

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้จะมีหลักการดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็เคยประสบความพยายาม "แทรกแซง" โดยรัฐบาลมาเป็นระยะๆ ตัวอย่างใกล้สุดในยุคของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และปธน.โจ ไบเดน ถอดเป็นบทเรียนออกมาได้ว่า เหตุใดจึงควรให้ธนาคารกลางทำงานโดยอิสระ

ธนาคารกลาง จำเป็นต้องมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง” ประโยคนี้ กล่าวโดย นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ตอกย้ำหลักการดำเนินงานของธนาคารกลางทั่วโลก ในอดีตที่ผ่านมา เฟดเองก็ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงมาหลายครั้ง แต่ก็ยืนหยัดในหลักการข้างต้นมาได้ ตัวอย่างการทำงานระหว่างเฟดและฝ่ายบริหาร ใกล้สุดมีให้เห็นทั้งในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสามารถถอดออกมาเป็นบทเรียนได้

ในยุครัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งครองตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2017 ถึง 20 ม.ค. 2021 ประธานธนาคารกลางสหรัฐในยุคของเขามีสองคน คือ นางเจเน็ต เยลเลน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานเฟด 4 ปี (3 ก.พ.2014 ถึง 3 ก.พ.2018) และนายเจอโรม พาวเวลล์ ที่รับตำแหน่งต่อจากนางเยลเลน(5 ก.พ. 2018) จนถึงปัจจุบัน

เจเน็ต เยลเลน นักเศรษฐศาสตร์ลูกหม้อของเฟดได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดในสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามาจากพรรคเดโมแครต เธอเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้  แต่ช่วงขวบปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง เยลเลนต้องทำงานกับรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งนับเป็นการทำงานภายใต้แรงกดดัน

ส่วนหนึ่งเพราะทรัมป์มองว่า เยลเลนเป็นคนของโอบามา และเมื่อใดก็ตามที่ทรัมป์เรียกร้องให้เฟดปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง นอกจากนี้ เยลเลนยังนิยมใช้มาตรการที่เข้มงวดกวดขันราวกฎเหล็กกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ เพื่อรักษาวินัยของสถาบันการเงินด้วย เนื่องจากสหรัฐในช่วงเวลานั้นเพิ่งผ่านพ้นฝันร้ายของวิกฤตสถาบันการเงินมาได้ไม่นาน 

เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟดในยุคประธานาธิบดีทรัมป์

ความไม่ลงรอยระหว่างบุคคลทั้งสองสะท้อนชัดในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยการดำรงตำแหน่งของเยลเลน ขณะที่ทรัมป์เพิ่งได้เป็นประธานาธิบดีปีแรก ตลอดทั้งปีทั้งคู่พบปะพูดคุยกันเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกใช้เวลาราว 15 นาทีเป็นช่วงเริ่มแรกการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ครั้งที่สอง 20 นาทีเมื่อเขาสัมภาษณ์เยลเลนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการต่ออายุการเป็นประธานเฟดสมัยที่สองของเธอ     

จุดพีคความขัดแย้ง-ไม่เสนอต่ออายุประธานเฟด  

ช่วงทำงานด้วยกันแรกๆ รัฐบาลทรัมป์กับเฟดภายใต้เยลเลน ยังคงประคองไปได้ด้วยดี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานก็ลดลง นอกจากนี้ เฟดยังสามารถขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งโดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบกับตลาดการเงิน แต่ความเคลื่อนไหวนี้ ก็ไม่สบอารมณ์ปธน.ทรัมป์ที่ประกาศตัวเองว่าเป็นผู้สนับสนุนนโยบายดอกเบี้ยอัตราต่ำ และการผ่อนคลายกฎระเบียบให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับจุดยืนของเยลเลน

ไม่น่าแปลกใจที่ปธน.ทรัมป์ไม่เสนอต่ออายุการทำงานให้เธอเป็นสมัยที่สอง เขากลับเลือกชื่อนายเจอโรม พาวเวลล์ ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานเฟดแทนเยลเลน แต่ก็ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของเฟดอยู่ดี

CNBC สื่อสหรัฐรายงานไว้ในช่วงปลายปี 2018 ว่า เมื่อพาวเวลล์ปรับขึ้นดอกเบี้ยแทนที่จะลดลงมาตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดี ทรัมป์ถึงกับเอ่ยปากว่า “จะโทษใครได้ ผมเสนอชื่อเขาเอง เรื่องนี้ผมไม่โทษใคร”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่านายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังของสหรัฐในช่วงเวลานั้น เป็นผู้ให้การรับรองและเสนอให้ปธน.ทรัมป์เลือกเจอโรม พาวเวลล์ เป็นประธานเฟด

ปธน.ทรัมป์คิดผิดที่เชื่อว่าจะสามารถแทรกแซงการทำงานของนายพาวเวลล์ ประธานเฟดที่เขาเป็นคนเสนอชื่อ

เยลเลนเองหลังลงจากตำแหน่งได้ให้สัมภาษณ์รายการ Marketplace วิพากษ์วิจารณ์ปธน.ทรัมป์อย่างตรงไปตรงมาว่า “ยังสงสัยอยู่ว่า เขา(ทรัมป์) เข้าใจเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ระบบการทำงานของธนาคารกลาง หรือแม้แต่การค้าระหว่างประเทศบ้างหรือเปล่า”

นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดี ออกมามาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการทำงานของนายพาวเวลล์อย่างรุนแรง (หลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันหลายครั้ง) ว่า พฤติกรรมแบบนี้อาจจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อธนาคารกลาง และมันไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำควรจะทำ   

การทำงานร่วมกับเฟดในยุคปธน.ไบเดน

ในยุคสมัยของปธน.โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต สหรัฐเผชิญกับเงินเฟ้อในอัตราสูง และเจอโรม พาวเวลล์ ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อสกัดกั้นการพุ่งทะยานของเงินเฟ้อ โดยหากดูไทม์ไลน์การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะพบว่า ในปี 2565 เพียงปีเดียว เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน จากนั้นในปี 2566 ยังขึ้นอีก 4 ครั้ง ทำให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 11 ครั้งก่อนจะเริ่มคงอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุด เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี

แต่ถึงกระนั้น เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการเติบโตอย่างแข็งแรง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลาง (เฟด) ที่แตกต่างไปจากยุคสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์

ปธน.ไบเดนเคยกล่าวไว้ในปี 2022 ช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูง (แตะระดับ 8.3%) ว่า นโยบายการต่อสู้เงินเฟ้อของรัฐบาล เริ่มต้นจากแนวคิดง่ายๆ ก็คือ “เคารพการทำงานของเฟด เคารพการเป็นอิสระของเฟด”  

บ่อยครั้งที่ปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า เขาต้องการสร้างความมั่นใจให้ชาวอเมริกันมั่นใจว่าปัญหาปากท้องและค่าครองชีพที่พุ่งสูง กำลังได้รับการแก้ไข เขาต้องการควบคุมเงินเฟ้อด้วยวิธีการที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจต้องชะงักงันหรือต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย ภารกิจดังกล่าวมีความล่อแหลมและเปราะบาง ต้องใช้มาตรการที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของเฟด

ไบเดนย้ำต้องการทำงานใกล้ชิดกับเฟด

การแก้ไขนั้นไบเดนย้ำว่า รัฐบาลร่วมมือใกล้ชิดกับธนาคารกลาง เขาเคยแสดงจุดยืนนั้นผ่านบทความที่เขียนพิเศษให้กับหนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัลในปี 2022 ว่า

“รัฐบาลยุคก่อนอาจจะทำไม่ดีไว้กับเฟด อดีตประธานาธิบดีบางคนอาจจะพยายามหาทางครอบงำการตัดสินใจของเฟดอย่างไม่เหมาะสมในช่วงที่มีเงินเฟ้อสูง แต่ผมจะไม่ทำเช่นนั้น”

ไบเดนยังกล่าวด้วยว่า เขาเองในฐานะประธานาธิบดี เป็นคนเลือกบุคลากรที่มีความสามารถอย่างพาวเวลล์มาเป็นผู้บริหารธนาคารกลาง (ไบเดนเสนอชื่อพาวเวลล์เป็นประธานเฟดต่อเป็นสมัยที่สอง) จึงมั่นใจในวิจารณญาณของพาวเวลล์ แม้ว่าในการนำมาตรการขึ้นดอกเบี้ยมาใช้นั้น อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบตามมา เช่น การปลดคนงานเพื่อลดต้นทุนของภาคเอกชน นำไปสู่อัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เพราะในอดีต สหรัฐเองก็เคยมีบทเรียนมาแล้ว โดยในยุคของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ช่วงต้นทศวรรษ 1970 ปธน.นิกสันพยายามแทรกแซงการทำงานของนายอาร์เธอร์ เบิร์น ประธานเฟดในยุคนั้น เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและนิกสันก็ต้องการชัยชนะสำหรับการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง เขาแทรกแซงเพื่อให้เฟดลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ผลกลับทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน และคงอยู่ในอัตราสูงร่วมสิบปีจนถึงต้นทศวรรษ1980