ESG Rating เกณฑ์ลงทุนยั่งยืนกลุ่มดัชนีอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

08 พ.ค. 2567 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 14:51 น.

ESG Rating เกณฑ์ลงทุนที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มดัชนีอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง: คอลัมน์ มันี่ดีไอวาย โดยณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

“การสรรหาการลงทุนยุคนี้ นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับ ESG (Environment, Social, Government) ในการลงทุนมากขึ้น สอดคล้องกับที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) และบริษัทจดทะเบียน ต่างจับมือ ส่งเสริม หรือมีมาตรการยกระดับความน่าสนใจของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อาทิเช่น  SET ESG Rating การส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ที่สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้” 

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการพิจารณางบการเงินของบริษัทในตลาดหุ้นแล้วนั้น ในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวน การจะเลือกหุ้นเข้าลงทุน นักลงทุนควรต้องดูข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อมั่นใจว่าเงินทุนไม่หาย กำไรไม่หด รวมถึงเงินลงทุนจะต้องปลอดภัยและเติบโตได้ในระยะยาวด้วย  ดังนั้นการดูงบการเงินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ  ข้อมูล SET ESG Rating ที่ตลาดหลักทรัพย์จัดเตรียมไว้  จึงเป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกบริษัทเพื่อลงทุนได้อย่างยั่งยืน

SET ESG Rating ได้มาจากการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของแต่ละบริษัทจดทะเบียนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้เปรียบเทียบข้อมูล ESG ของแต่ละบริษัทได้ง่ายยิ่งขึ้น  โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพที่ผ่านการประเมิน 2 ด่าน คือ ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน E และ S และ G อย่างน้อย 50 คะแนนและ มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ คือ มีกำไรสุทธิอย่างน้อย 3 ใน 5 ปีล่าสุด  ไม่มีการซื้อขายที่ผิดปกติ  ไม่ส่งงบการเงินล่าช้า ไม่ถูกลงโทษในประเด็น ESG

ESG Rating เกณฑ์ลงทุนยั่งยืนกลุ่มดัชนีอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

การประเมิน Rating ของ SET จะประเมินโดยใช้คำถาม 2 ประเภท คือ

  1. คำถามทั่วไปสำหรับทุกบริษัทจดทะเบียน อาทิ  การกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ESG  การกำหนดเป้าหมายและกระบวนการ การติดตามประเมินผล และวัดผล
  2. คำถามตาม 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาการจัดการแบบยั่งยืนได้ตรงตามลักษณะของธุรกิจได้อย่างชัดเจน

สำหรับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์  หรือ ในกลุ่ม ดัชนีอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) ซึ่งประกอบไปด้วย

  • กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง(CONMAT)
  • กลุ่มอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
  • กลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง(CON)

จะมีการประเมินโดยให้น้ำหนัก เชิงเศรษฐกิจ 35 คะแนน เชิงสิ่งแวดล้อม  30 คะแนน และเชิงสังคม 35 คะแนน

ESG Rating เกณฑ์ลงทุนยั่งยืนกลุ่มดัชนีอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

บริษัทที่ผ่านการประเมิน SET ESG Rating จะมีระดับคะแนนปรากฏบน website SET โดยแบ่ง Rating ตามคะแนนที่ได้รับการประเมิน เช่น

  • คะแนนประเมินที่ 90-100 จะได้รับ Rating ที่ AAA
  • คะแนนประเมินที่ 80-89 จะได้รับ Rating ที่ AA
  • คะแนนประเมินที่ 65-79 จะได้รับ Rating ที่ A
  • คะแนนประเมินที่ 50-64 จะได้รับ Rating ที่ BBB 

SET จะมีการทบทวนผลการประเมินอย่างต่อเนื่อง  หากบริษัทใดมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด  SET สามารถพิจารณาถอด SET ESG Ratings ระหว่างปีได้

อย่างไรก็ดี ความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ข้างต้น ถือเป็นความร่วมมือสำคัญที่จะส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งปี 2566 มีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินถึง 262 บริษัท และผ่านการประเมิน 193 บริษัท ซึ่งนับวันจะยิ่งมีจำนวนบริษัทที่ร่วมการประเมินมากขึ้นๆ ถ้านับจากจุดเริ่มต้นที่ปี 2558 ที่ผ่านการประเมิน 51 บริษัท จากบริษัทที่เข้าร่วม 100 บริษัท

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัท คือ เมื่อบริษัทได้ ESG Rating สูงนักลงทุนจะเชื่อมั่น และต้องการเข้ามาลงทุน  ในขณะที่ หากบริษัทยังไม่ได้ ESG Rating ก็สามารถใช้ SET ESG Rating เป็น Benchmark ในการพัฒนาบริษัทต่อไปได้ ส่วนนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็สามารถใช้ ESG Rating ในการประเมินมูลค่าหุ้น และใส่รายงานวิจัยเพื่อแนะนำการลงทุนแก่ลูกค้า