กองทุนหุ้นไทย Low Beta ทางเลือกลงทุนช่วงตลาดผันผวน

30 มี.ค. 2567 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2567 | 11:13 น.

กองทุนหุ้นไทย Low Beta ทางเลือกลงทุนช่วงตลาดผันผวน : คอลัมน์ มันนี่ดีไอวาย  โดยนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

เข้าสู่ช่วงท้ายของเดือนมีนาคม ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย โดยหลายสำนักต่างๆ ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ดีในปี 2567 นี้ ด้าน SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโตได้ราว 3.0% จากการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในประเทศ อย่างเช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อภายในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแอ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน ผลกระทบจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่เหมือนช่วง Pre-Covid

อีกทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ปัญหาวิกฤตทะเลแดง ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยดูไม่สดใสนัก อีกทั้ง ยังขาดแรงส่งที่จะเสริมให้ตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้ จึงส่งผลกดดันถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หรือดัชนี SET Index ยังผันผวนต่อเนื่องไปอีกสักระยะ

ด้วยเหตุนี้ การจัดพอร์ตลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม หรือแบบ  Defensive น่าจะช่วยประคองรักษาพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนได้ในสถานการณ์เช่นนี้ โดยหนึ่งในตัวอย่างการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมที่น่าสนใจ และดูจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ การลงทุนด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบ Low Beta

กองทุนหุ้นไทย Low Beta ทางเลือกลงทุนช่วงตลาดผันผวน

 

รู้จักกับ “เบต้า (Beta)”

Beta เป็นตัวเลขเชิงสถิติที่แสดงถึงความผันผวนของหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโดยรวม กล่าวคือ เป็นค่าที่บ่งบอกว่าหุ้นดังกล่าว มีความผันผวนมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A มีค่า Beta เท่ากับ 1.2 เท่า หมายถึง ดัชนีโดยรวม (ยกตัวอย่าง SET Index) เปลี่ยนแปลง +1% ด้วยความสัมพันธ์เชิงสถิติในอดีต คาดว่าราคาหุ้น A จะเปลี่ยนแปลง +1.2% หรือกรณี SET Index เปลี่ยนแปลง -1% ราคาหุ้น A ก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลง -1.2% เป็นต้น

ซึ่งหุ้น A ที่มีค่า Beta มากกว่า 1 จัดเป็นหุ้นที่มีค่า Beta สูงกว่าตลาด ในขณะที่หุ้นที่มีค่า Beta ต่ำกว่าตลาดหรือมีค่า Beta น้อยกว่า 1 ถือได้ว่าเป็นหุ้นประเภท Low Beta ยกตัวอย่างเช่น หุ้น B มีค่า Beta เท่ากับ 0.8 เท่า หากดัชนี SET Index เปลี่ยนแปลง +1% (หรือ -1%) ด้วยความสัมพันธ์เชิงสถิติในอดีต ราคาหุ้น B มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงเพียง +0.8% (หรือ -0.8%) เท่านั้น

แล้วหุ้น Low Beta เหมาะกับสถานการณ์เช่นใด?

หลายคนอาจคิดว่า หุ้นที่มีค่า Beta ต่ำ น่าจะเหมาะกับการลงทุนในช่วงตลาดหุ้นขาลงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว การลงทุนกับหุ้น Low Beta นั้น สามารถลงทุนได้ในทุกสภาพตลาดไม่ว่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง เพราะการลงทุนในหุ้น Low Beta ไม่ต้องอาศัยการจับจังหวะตลาด ถ้าตลาดโดยรวมปรับตัวขึ้นพอร์ตลงทุนของเราก็จะปรับตัวขึ้นด้วย เพียงแต่อาจจะขึ้นน้อยกว่าตลาดโดยรวม

แต่ที่สำคัญคือ ในช่วงเวลาที่ตลาดโดยรวมมีทิศทางไม่ค่อยดีนัก อาจมีความผันผวนสูง หรือการปรับตัวลงแรง กลยุทธ์การลงทุนในหุ้น Low Beta นี้จะช่วยให้พอร์ตลงทุนของเรารอดพ้นจากการขาดทุนหนัก (Drawdown) และสามารถช่วยรักษาเงินต้นของเราไว้ เพื่อรอการฟื้นคืนของตลาดโดยรวมได้

กลยุทธ์แบบ Low Beta เหมาะกับใครบ้าง?

Low Beta ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูงเมื่อเทียบกับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นแบบอื่นๆ จึงเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้แต่ต้องการความผันผวนที่ต่ำกว่าตลาดโดยรวม ซึ่งข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า กลยุทธ์แบบ Low Beta ช่วยให้พอร์ตลงทุนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในภาวะตลาดขาขึ้น และลดความเสี่ยงการขาดทุนหนักในภาวะตลาดขาลงได้

ปัจจุบัน การลงทุนกับหุ้น Low Beta เอง ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะมีกองทุนรวมที่มีการบริหารกองทุนในลักษณะนี้ โดยกองทุนมีชื่อว่า “กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นไทย Low Beta หรือ SCBLOWBETA” บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM

กองทุนนี้ จะเน้นลงทุนหุ้นไทยที่มีความผันผวนต่ำ (Low Beta) และราคาหุ้นมีแนวโน้มแกว่งตัวน้อยกว่าตลาดหุ้นโดยรวม โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน จึงมีโอกาสช่วยเสริมพอร์ตลงทุนให้มีโอกาสเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และมีโอกาสรับผลตอบแทนในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น และลดความเสี่ยงการขาดทุนในจังหวะที่ตลาดเป็นขาลง

อีกทั้งกองทุนนี้ มีจุดเด่นด้านการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management) คัดสรรหุ้น 20-40 ตัว ที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ผสมผสานการคัดเลือกหุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น มูลค่า (Value), การเติบโต (Growth), คุณภาพ (Quality), แนวโน้มราคาที่แข็งแกร่ง (Momentum) และมีปัจจัยบวกหนุน (Sentiment) เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) อย่างสม่ำเสมอ บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุน Quantitative Investing ที่การันตีผลงานด้วยหลายกองทุนคุณภาพอีกด้วย