ดาวโจนส์ปิดบวก 22.07 จุด กังวลเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงนาน

19 เม.ย. 2567 | 06:47 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2567 | 06:54 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 หลังจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่างก็ออกมาส่งสัญญาณที่สอดคล้องกันว่าเฟดอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,775.38 จุด เพิ่มขึ้น 22.07 จุด หรือ +0.06%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,011.12 จุด ลดลง 11.09 จุด หรือ -0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,601.50 จุด ลดลง 81.87 จุด หรือ -0.52%

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารและหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค ปรับตัวขึ้น 0.66% และ 0.61% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ปรับตัวลง 0.89% และ 0.71% ตามลำดับ

เจ้าหน้าที่เฟดหลายราย ซึ่งรวมถึงนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์, นางมิเชล โบว์แมน สมาชิกคณะผู้ว่าการเฟด, นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก และนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ต่างก็แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เฟดยังไม่ควรเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะการที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% นั้น อาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้

สหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 212,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 215,000 ราย

ทางด้านเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้น 12.3 จุด สู่ระดับ +15.5 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +2.5 โดยดัชนียังคงมีค่าเป็นบวก ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกยังคงมีการขยายตัว

ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน รวมทั้งตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดนั้น ทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 15.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมิ.ย. และให้น้ำหนัก 41.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 48.4% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.6% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น

หุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์พุ่งขึ้น ก่อนเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ (19 เม.ย.) โดยหุ้นมาราธอน ดิจิทัล (Marathon Digital) พุ่งขึ้น 7% หุ้นไรออท แพลตฟอร์มส์ (Riot Platforms) พุ่งขึ้นกว่า 4% หุ้นไอริส เอนเนอร์จี (Iris Energy) พุ่งขึ้น 8% และหุ้นคลีนสปาร์ค (CleanSpark) ทะยานขึ้น 13%

ทั้งนี้ Bitcoin Halving คือเหตุการณ์การแบ่งครึ่งบล็อกของบิตคอยน์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปี ด้วยการลดอัตราการสร้างบิตคอยน์ใหม่ลงครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ลดรางวัลที่จะมอบให้กับนักขุดบิตคอยน์ เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของบิตคอยน์ในตลาด

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค.นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมดังกล่าว