เปิด17 บจ. ถูกหั่นเครดิตเรทติ้ง"องค์กร-หุ้นกู้" มีรายใดบ้าง

11 เม.ย. 2567 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2567 | 07:43 น.
6.6 k

เปิด"17 บจ." ถูกหั่นเรทติ้ง "องค์กร-หุ้นกู้ "ต้นปี 67 มา พบมีทั้งกลุ่มอสังหา-รับเหมา-พลังงาน ฯ จากผลดำเนินการอ่อนแอ หนี้สิน ลงทุนเกินตัว

"ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมบริษัทจดทะเบียน ( บจ.) ที่ถูก "ทริสเรทติ้ง-ฟิทช์เรทติ้ง" ประกาศปรับลดอันดับเครดิต ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 เม.ย.67 พบมีจำนวนทั้งสิ้น 12 บริษัท ส่วนอีก 5 บริษัทแม้ยังคงอันดับเครดิต แต่แนวโน้มถูกปรับลดสู่ Negative หรือ "ลบ" ส่วนใหญ่เนื่องจากงบการเงินอ่อนแอ หนี้สินสูง ลงทุนมากและสภาพคล่องตึงตัว รายละเอียดดังนี้


บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) : ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรมาอยู่ระดับ "BB"จาก "BB+"เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง การขาดทุนจากการยึดทรัพย์และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น 

บมจ.วิลล่า คุณาลัย (KUN) ถูกทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรมาอยู่ที่ระดับ “BB-” จากเดิมที่ระดับ “BB” เนื่องจากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอย

บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) ถูกทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรเป็นระดับ “BBB-” จากเดิม“BBB” จากภาระหนี้ที่คาดจะเพิ่มสูง จากแผนการลงทุนจำนวนมากและอัตรากำไรที่อ่อนตัวลง

เปิด17 บจ. ถูกหั่นเครดิตเรทติ้ง\"องค์กร-หุ้นกู้\" มีรายใดบ้าง
 

บมจ.ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (CKP) : ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร เป็นระดับ “A-” จากระดับ “A” และปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็น ระดับ “BBB+” จากระดับ “A-” เนื่องจากงบการเงิน กำไรลดลง ในขณะที่บริษัทมีภาระผูกพันในโครงการลงทุนขนาดใหญ่

บจก.ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NNPC ) ถูกทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “A-” จากระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต“Stable” หรือ “คงที่” เท่ากับการปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทแม่คือ CKP

บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) : ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันเป็น “BB-” และ “B+” จากเดิมที่ระดับ “BB+” และ “BB” ตามลำดับ พร้อมคงเครดิตพินิจแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” จากความกังวลสภาพคล่องที่รุนแรง การจ่ายชำระเงินให้แก่ผู้รับเหมาช่วงล่าช้า ขณะที่การสนับสนุนจากธนาคารเจ้าหนี้ยังจำกัด  อีกทั้งมีความเป็นไปได้สูงที่การลงทุนของบริษัทจะถูกประเมินด้อยค่า

บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) ถูกทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของเป็นระดับ“BB-” จากเดิมที่ระดับ “BB+” เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าคาด และภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง 

บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND ) ถูกทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร เป็นระดับ “B+” จากระดับ “BB-” และคงแนวโน้มอันดับเครดิตที่ “Negative” หรือ “ลบ” เนื่องจากผลการดำเนินงานที่อ่อนและแผนการลดภาระหนี้ล่าช้า

บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) หรือ CPF ถูกทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันเป็นระดับ “A” จาก “A+” พร้อมทั้งลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทเป็นระดับ “BBB+” จาก “A-” จากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง และระดับหนี้ที่ยังสูงอย่างต่อเนื่อง

บมจ.อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) : ถูกทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรเป็นระดับ “B+” จาก “BB-” เครดิตพินิจ แนวโน้ม “Negative”  จากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอ สภาพคล่องที่ตึงตัว ความท้าทายจากการรีไฟแนนซ์ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด 2 ชุดนี้ปี 67 นี้ มูลค่า 609.5 ล้านบาท

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)  : ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว รวมถึงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันเป็น "BBB+(tha)" จาก 'A-(tha) เนื่องจากผลดำเนินงานที่อ่อนแอ โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน EBITDA สุทธิของ IRPC จะสูงกว่า 5.5 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

5 บจ. แนวโน้มถูกปรับลดเป็น Negative

บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) : ทริสเรทติ้ง ปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Negative" หรือ "ลบ"  เนื่องจากสถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแอกว่าคาด ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ คาดยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตามแผนการลงทุนซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการจัดเก็บเงินยังมีความไม่แน่นอน

บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ถูกทริสเรทติ้ง ประกาศแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น "Negative" หรือ "ลบ"  โดยเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ JMART ที่  BBB+/ Negative

บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ( ANAN) ถูกทริสเรทติ้ง ปลด "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ  "ลบ" สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัท โดยแทนที่ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative"  หรือ "ลบ" เนื่องจากผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าคาด และความเสี่ยงทางการเงินที่สูง กอร์ปกับสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่ยังสามารถบริหารจัดการได้

บมจ.โกลบอล กรีน เคมิคอล (GGC ) :  "ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)" ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตบริษัท ฯ เป็น "ลบ" จากงบกำไรในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาลดลง  ภาระหนี้สูง  อัตราส่วนหนี้สิน EBITDA net leverage คาดจะอยู่ระดับสูงกว่า 3.0 เท่า

บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ทริสเรทติ้ง คงแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" สาเหตุจากความเสี่ยงทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากบริษัทมีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้การค้าที่ยังไม่ได้เรียกเก็บที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนธุรกิจพึ่งพางานก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการค่อนข้างสูง