ธนาคารโลกปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย จ่อหั่น GDP ปีนี้ลงอีกในเดือนเม.ย.  

07 มี.ค. 2567 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 11:55 น.

ธนาคารโลกชี้ เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก  จ่อลดคาดการณ์จีดีพีปี 2567 ลงอีก จากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.2% คงต้องปรับลดลงโดยยังไม่ระบุว่าจะเป็นเท่าใด เหตุจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ขณะการส่งออกยังแผ่ว การเบิกจ่ายงบฯล่าช้า

 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย เปิดเผยเกี่ยวกับ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2567 ฉบับทบทวนล่าสุดที่จะเผยแพร่ในเดือนเมษายนนี้ อาจมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจากระดับที่คาดการณ์ไว้เดิมในเดือนธ.ค.2566 ที่ว่า ปีนี้ (2567) จีดีพีของไทยจะขยายตัวได้ 3.2% คงต้องปรับลดลงมาอีก ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากปัจจัยภายในประเทศเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การส่งออกที่ยังคงอ่อนแอ และปัจจัยภายนอกคือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะสงคราม

ก่อนหน้านี้ รายงานของเวิลด์แบงก์ฉบับเผยแพร่เมื่อเดือนธ.ค.2566 ประมาณการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.2% ซึ่งคาดการณ์นี้ไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งหากมีการนำมาใช้จริง คาดว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้เกือบๆ 1% ของจีดีพี ตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนธ.ค.เป็นการขยายตัวจากระดับ 2.5% ในปี 2566 เนื่องจากมีการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว การส่งออกแม้ยังไม่แข็งแรงนัก และการบริโภคภาคเอกชน (private consumption)

คำแนะนำสำหรับการยกระดับจีดีพี

นักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์มองว่า ความท้าทายหลักๆของไทยคือ การยกระดับการเติบโตของจีดีพีในระยะสั้น กลาง และระยะยาว เป็น 3% 4% และ 5% ตามลำดับ ซึ่งวิธีการก็คือต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งทุนมนุษย์  

แต่ทั้งนี้ การเป็นประเทศรายได้สูงซึ่งเป็นเป้าหมายนั้น ไม่ได้ดูแค่เรื่องจีดีพี แต่ดูในเรื่องการดูแลสังคมผู้สูงอายุและคนยากจนด้วย ซึ่งหลายประเทศก็จะเน้นเรื่องการให้สวัสดิการเจาะจงผู้ที่ยากจนหรือผู้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่การเหวี่ยงแหช่วยทุกคนแต่ให้เงินน้อย แต่จะเลือกช่วยเฉพาะคนบางกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ โดยให้เขาได้เงินมากขึ้น

“นี่คือสิ่งที่เวิลด์แบงก์ให้คำแนะนำ คือ social protection ที่เจาะจงสำหรับผู้ที่ยากจน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เป็นต้น” นายเกียรติพงศ์กล่าว และว่า  

ไทยควรจะลงทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะยกระดับการเติบโตของจีดีพี เพราะจีดีพีของไทยยังโตที่ระดับราวๆ 3% เราควรจะไปได้ถึง 4% หรือ 5% จึงจะสามารถไปได้เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูง จึงต้องลงทุนในทุนมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรวม

ในส่วนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น นักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์มองว่า โครงการแลนด์บริดจ์ยังเป็นแผนการ ซึ่งทางเวิลด์แบงก์ยังไม่ได้มองในรายละเอียด แต่ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่ไทยมีอยู่แล้ว เช่นโครงการอีอีซี ก็เห็นว่า มีโอกาสที่จะขยายการเชื่อมโยงและโลจิสติกส์ทั้งในไทยและรวมไปถึงภูมิภาคอาเซียน การเชื่อมโยงทางถนนและรถไฟ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ และทำให้กฎระเบียบของไทยเอื้อต่อการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น (Ease of Doing Business) เพิ่มบุคลากรที่มีทักษะ ดึงการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) เข้ามา เพราะรัฐลงทุนด้านโครงสร้างอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาลงทุนด้วย

เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ถึงแม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ประมาณ 1% แต่ก็เป็นมาตรการที่ครอบคลุมเกือบทุกคน ไม่ได้เจาะจงผู้ที่ยากจน เพราะฉะนั้น ต้นทุนจะค่อนข้างสูง เกือบ 3% ต่อจีดีพี ก็จะเป็นภาระต่อไปในอนาคต

ถามว่า เราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยมาตรการอย่างดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ เวิลด์แบงก์มองที่ตัวเลขการบริโภคของไทย private consumption ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เห็นว่ายังมีการเติบโตค่อนข้างดี อาจจะมีการชะลอบ้าง ที่น่าห่วงคือหนี้ครัวเรือนที่ของไทยถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน อาจจะกลายมาเป็นตัวบั่นทอนการบริโภคของเอกชน นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การส่งออกที่ชะลอตัว และการใช้จ่ายงบที่ล่าช้า ก็เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจของไทย

ไม่น่ากังวล และไม่เสี่ยงเงินฝืด

สำหรับคำถามที่ว่า เงินเฟ้อของไทยที่ลดลงมาติดต่อกันหลายเดือนแล้วจนมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเงินฝืด (deflation) ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเงินฝืด เพราะเงินฝืดคือทุกหมวดสินค้าปรับราคาลดลงเนื่องจากว่าเศรษฐกิจซบเซา ไม่มีกำลังซื้อ แต่ของไทยสินค้าที่ราคาลดลงเป็นแค่หมวดที่ราคาในตลาดโลกลดลง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน รวมทั้งหมวดที่มีการตรึงราคาเอาไว้ เช่น ไฟฟ้า เลยกระชากราคาลงมาเยอะ แต่ว่าไม่ได้ลดลงทุกหมวดโดยรวม จึงไม่ถือว่าเป็นเงินฝืด หรือ deflation แต่เรียกว่าเป็น disinflation หรือเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งเป็นผลชั่วคราว และเมื่อมองในแง่การเป็นผลจากมาตรการ “ตรึงราคา” จึงมองว่า ไทยยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อแฝงอยู่  แต่ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของเงินฝืด