ผ่าแผนก่อหนี้ใหม่ 2567 รัฐบาลทำอะไรถึงขอเพิ่มถึง 5.6 แสนล้าน

14 ก.พ. 2567 | 05:55 น.
625

ผ่ารายละเอียด แผนก่อหนี้ใหม่ ปี 2567 หลัง ครม.ไฟเขียวการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเพิ่มวงเงินภายใต้แผนก่อหนี้ พุ่งสูงถึง 5.6 แสนล้าน เช็คข้อมูลรัฐบาล ทำอะไร ถึงขอกรอบวงเงินเพิ่มจำนวนมหาศาล

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการเงินการคลัง ภายหลังจากที่ประชุมครม.อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 หนึ่งในนั้นมี แผนการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้ปรับวงเงินเพิ่มเติมจาก 194,434 ล้านบาท เป็น 754,710 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกสูงถึง 560,276 ล้านบาท

จากการตรวจสอบรายละเอียดของการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ฉบับนี้ โดยนับเฉพาะแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 754,710 ล้านบาท พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า เหตุใดรัฐบาลถึงเพิ่มวงเงินภายใต้แผนการก่อหนี้ใหม่ มากถึง 5.6 แสนล้านบาท แยกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ผ่าแผนก่อหนี้ใหม่ 2567 รัฐบาลทำอะไรถึงขอเพิ่มถึง 5.6 แสนล้าน

1.แผนก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ปรับวงเงินเพิ่มเติมจาก 97,435 ล้านบาท เป็น 603,211 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 505,776 ล้านบาท 

ส่วนแรกเป็นแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง แบ่งเป็น การเงินกู้ในประเทศ และ กู้เงินต่างประเทศ

การเงินกู้ในประเทศ

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน) ปรับเพิ่มเพื่อให้รัฐบาลสามารถรองรับการใช้จ่าย ของภาครัฐได้ตามปกติก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีผลบังคับใช้ ตั้งวงเงินเพิ่ม 424,000 ล้านบาท

กู้เงินต่างประเทศ

กรมทางหลวงปรับลดวงเงินโครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติ อู่ตะเภา เนื่องจากปริมาณงานลดลง โดยปรับลดวงเงินลง 455.99 ล้านบาท

กองทัพเรือปรับลดวงเงินโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (ก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2) เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 โดยปรับลดวงเงินลง 9 แสนบาท

กระทรวงสาธารณสุข ปรับเพิ่มวงเงินโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีการปรับค่า Factor F พร้อมค่าบริหารจัดการโครงการ 5% และวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดเงินกู้ (CF) 5% สำหรับการบริหารงบเงินกู้ต่างประเทศ โดยปรับเพิ่มวงเงิน 6,873.53 ล้านบาท

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ปรับเพิ่มวงเงินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ เนื่องจากมีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ เช่น การออกแบบอาคารในพื้นที่ใหม่ การจ้าง ที่ปรึกษาและเพิ่มงบสำหรับการก่อสร้างอาคารและเครื่องลำเลียงแสง โดยปรับเพิ่มวงเงิน 12,359.46 ล้านบาท

อีกส่วนคือ แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ที่รัฐบาลกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง ของเงินคงคลัง โดยเป็นหนี้ในประเทศ ในรายการที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง ระยะสั้นเป็นการชั่วคราวตามความจำเป็น โดยปรับเพิ่มวงเงิน 63,000 ล้านบาท

 

ผ่าแผนก่อหนี้ใหม่ 2567 รัฐบาลทำอะไรถึงขอเพิ่มถึง 5.6 แสนล้าน

 

2.แผนก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ปรับวงเงินเพิ่มเติมจาก 96,999.25 ล้านบาท เป็น 128,499.25 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31,500 ล้านบาท

โดยอยู่ภายใต้แผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการดำเนินกิจการทั่วไป แบ่งเป็น

กฟผ. ปรับเพิ่มเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line เพื่อต่ออายุเงินกู้ระยะสั้น โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 30,000 ล้านบาท

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ปรับเพิ่ม วงเงินกู้เบิกเกินบัญชีเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจาก ค่าวัตถุดิบมีราคาที่สูงขึ้น โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 250 ล้านบาท

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากมียอดลูกหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก ทำให้ยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 1,100 ล้านบาท

บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.) ปรับเพิ่มวงเงินแผนกู้เงิน ของ บอท. ปี 2567 เพื่อเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป เนื่องจากต้องใช้เงินทุนสำหรับหมุนเวียนในกิจการและสำหรับสั่งซื้อ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานจากต่างประเทศ โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 150 ล้านบาท

 

ผ่าแผนก่อหนี้ใหม่ 2567 รัฐบาลทำอะไรถึงขอเพิ่มถึง 5.6 แสนล้าน

 

3.แผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป

โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐปรับเพิ่ม 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนข.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้นและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษี สรรพสามิตน้ำมันดีเซลทำให้กองทุนต้องชดเชยมากขึ้น โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 20,000 ล้านบาท

กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุน ของกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็น ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสัดส่วนวงเงินต่าง ๆ ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง