การเงินคนรุ่นใหม่ Loud Budgeting อวดความประหยัด

06 มี.ค. 2567 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มี.ค. 2567 | 11:25 น.
858

อวดรวยหลบไป คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z อาจไม่ได้เน้นความหรูหรา ความเเพงเสมอไป แต่เน้นใช้เงินกับสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด หรือที่เรียกว่า "Loud Budgeting" อวดความประหยัด

KEY

POINTS

  • อวดรวยหลบไป คนรุ่นใหม่ Gen Z ไม่ได้เน้นความหรูหรา ความเเพงเสมอไป แต่เน้นใช้เงินกับสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด 
  • Loud Budgeting เทรนด์การเงินปี 2024 สนับสนุนให้ผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายและคิดก่อนใช้เงิน 
  • ความกังวลของคนไทย 3 อันดับ คือ ความยากจน-ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ทุจริตทางการเงิน-การเมือง เเละ "เงินเฟ้อ"

คอนเทนต์อวดร่ำอวดรวยและการแต่งภาพบุคคลให้ดูดีเกินจริงจาก "อินฟลูเอ็นเซอร์" (Influencer) บุคคลทั่วไปที่มีอิทธิพลต่อความคิด และมีกลุ่มผู้ติดตาม (Follower) จำนวนมาก อาจสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคม เช่น การก่อหนี้เพื่อมาซื้อสินค้าและบริการได้

Nielsen ระบุว่า ปี 2565 ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีอินฟลูเอ็นเซอร์รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน ไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน ติดท็อป 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะสามารถสร้างรายได้ก้อนโต

เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการ "ตลาดอินฟลูเอ็นเซอร์" จะพบว่า สูงถึง 19.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 เพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี

"อินฟลูเอ็นเซอร์" (Influencer)

ความเงียบสู่การตะโกน

แต่ในขั้วตรงข้ามก็เกิดเทรนด์ใหม่ในปี 2024 Loud Budgeting เทรนด์ประหยัด ไม่เน้นความหรูหรา ไม่ต้องมีราคาเเพง ที่กำลังเป็นกระแสไวรัลในกลุ่มคน Gen Z ซึ่งแตกต่างจาก เทรนด์ Quiet Luxury เทรนด์เมื่อปี 2023 ความเรียบหรูที่ไม่โชว์แบรนด์ หรือโชว์โลโก้ให้ผู้คนเห็น และยังแตกต่างจากในอดีตที่ในฝั่ง Luxury Brand ออกแบบให้โลโก้เด่นตะหง่าน เห็นชัดเจนมาแต่ไกล เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรู ก็แสดงตัวตน รสนิยม และความหรูหราผ่านการใช้ไอเท็มหรูหรา

แนวคิดของ เทรนด์ Loud Budgeting ตะโกนว่า "ฉันมันคนประหยัด" ก็คือ ต้องใช้เงินไปกับสิ่งที่ให้คุณค่าหรือสิ่งของที่มีความสำคัญอย่างเเท้จริง ไม่วิ่งตามเทรนด์ หรือ "#ของมันต้องมี" เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี แต่ใครที่เก็บเงินได้มากกว่าคนนั้นชนะ เป็นกระแสที่พูดถึงใน TikTok โดยเฉพาะในต่างประเทศที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคคิดก่อนใช้เงินนั่นเอง 

เทรนด์ Loud Budgeting

เทรนด์นี้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจไทยเเละเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน และความคิดของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังสอดคล้องกับผลสำรวจเกี่ยวกับความกังวลของชาวโลก และไทย ช่วงปี 2567 ของ อิปซอสส์ องค์กรด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคระดับโลก

รายงาน "What Worries Thailand" สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 6,000 คน ใน 33 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย พบว่า "เงินเฟ้อ" ยังคงเป็นความกังวลสูงสุด ต่อเนื่องมายาวนานถึง 20 เดือน ถือว่านานที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจ ขณะที่ความกังวลของคนไทย 3 อันดับแรกคือ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม การทุจริตทางการเงินหรือการเมือง เเละภาวะเงินเฟ้อ ตามลำดับ 

เงินเฟ้อ

เทคนิค Loud Budgenting

อ้างอิงจาก cnbc โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออม

  • ไม่ซื้อสินค้าที่ล่อตาล่อใจ
  • การลบสลิปโอนเงิน วิธีการนี้จะไม่กระตุ้นให้อยากซื้อสินค้า 
  • การใช้กฎ 48 ชั่วโมงในการเลือกซื้อสินค้า เพื่อตัดสินใจอีกครั้งก่อนจะซื้อของราคาแพง
  • ปิดแจ้งเตือนแอปพลิเคชั่นของแบรนด์สินค้า สื่อสังคมออนไลน์ หรือเเม้แต่อีเมลล์จากเเบรนด์ต่างๆ
  • ตรวจสอบรายรับรายจ่ายและปรับให้เหมาะสม

แนวคิดเรื่องการกำหนดงบประมาณที่ดังกระหึ่มไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การมีอิสรภาพทางการเงิน ก็จะช่วยส่งเสริมควบคุมการใช้เงินไปตามอารมณ์หรือตามกระเเส ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่แนวทางประหยัดเงินอีกทางหนึ่ง